The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   Melayu Focus : นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

Melayu Focus : มลายูศึกษา : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

 โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน



                             "…. การเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะภาษา ชาวตะวันตกสนใจในสาขาวิชามลายูศึกษา สังคมและวัฒนธรรมมลายู ดั่งคำที่กล่าวว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง... ”

            สาขาวิชาในสถาบันการศึกษาที่ใช้ชื่อว่า “สาขาวิชามลายูศึกษา” มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ใช้ชื่อว่า สาขาวิชามลายูศึกษา นั้นคือ สาขาวิชามลายูศึกษาที่สังกัดอยู่ในคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 

           สาขาวิชามลายูศึกษา ไม่เพียงต้องเรียนเกี่ยวกับวิชาภาษามลายูเท่านั้น แต่ต้องเรียนวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวมลายู ไม่ว่าจะเป็นด้าน ประวัติศาสตร์  การเมืองการปกครอง  กฎหมาย  เศรษฐกิจ  ภูมิศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์มลายูกว่า 340 ล้านคน ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน, ติมอร์เลสเต, อัฟริกาใต้, ศรีลังกา, มาดากัสการ์, ในประเทศออสเตรเลีย เช่นในเกาะโคโคส และออสเตรเลียตะวันตก รวมทั้งชาวมลายูที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ

          ชาวตะวันตกสนใจในสาขาวิชามลายูศึกษา โดยเฉพาะภาษามลายู สังคมและวัฒนธรรมมลายู ด้วยมีเหตุผลดั่งที่มีการกล่าวว่า  “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”  การที่ชาวตะวันตกจะมาทำการค้าขาย  จะมายึดครองดินแดนในภูมิภาคมลายู  หรือเมื่อยึดครองแล้วจะมาปกครองดินแดนในภูมิภาคมลายู ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชาวมลายู

          เมื่อย้อนอดีตจะเห็นว่าชาวตะวันตก มีการบันทึกถึงการเดินทางมายังดินแดนภูมิภาคมลายู  มีการเขียนคำศัพท์ภาษามลายู-อังกฤษ เพื่อใช้ในการสื่อสารกับชาวพื้นเมืองในแถบนี้

          หนังสือเกี่ยวกับภาษามลายูเล่มแรกๆ ในต้นศตวรรษที่ 17 คือ หนังสือที่ชื่อว่า Dialogues in the English and Malaiane Languages เขียนโดย Augustine Spalding เมื่อปี 1614  ส่วนหนังสือไวยากรณ์ภาษามลายูเล่มแรกๆ มีชื่อว่า  Gramatica Mallayo-Anglica เขียนโดย William Mainstone ในปี 1682  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษ 

          ส่วนหอสมุดบริติชอังกฤษ มีฉบับที่  John Haddon Hindley (1765–1827) คัดลอกไว้เมื่อปี 1808  นอกจากนั้น Thomas Bowrey ยังเขียนพจนานุกรมใช้ชื่อว่า A Dictionary : English and Malayo, Malayo and English ในปี 1701 

          ศาสตราจารย์ ดร. James Collins นักภาษาศาสตร์ชาวสหรัฐ กล่าวว่า เวลา 100 ปีต่อมา ทาง James Howison ได้จัดพิมพ์พจนานุกรมใหม่ในปี 1801 โดยใช้ชื่อว่า A Dictionary of the Malay Tongue  การพิมพ์พจนานุกรมครั้งนั้นในฐานคำศัพท์ของ  A Dictionary : English and Malayo, Malayo and English  และ William Marsden ได้เขียนพจนานุกรมขึ้นใช้ชื่อว่า A Dictionary of Malayan Language   in Two Part, Malayan and English, English and Malayan ในปี 1812

            สำหรับในสหรัฐอเมริกา นั้น ชาวอเมริกันคนแรกที่เรียนภาษามลายูคือ นาย David  Woodardด้วยเขาถูกจับกุมที่เกาะสุลาเวซี ประเทศอินโดเนเซีย ในปัจจุบันเมื่อปี 1793  คำศัพท์ที่เขาจดบันทึกไว้ได้มีการพิมพ์ที่กรุงลอนดอนในปี 1805   นอกจากนั้น  Charles  Scott  ได้เขียนบทความเรื่อง The Malayan Words in English ในวารสารที่ชื่อ Journal of The American Oriental Society (1896-1897)  โดย Charles  Scott  กล่าวว่ามีคำภาษามลายูไม่น้อยกว่า 150 คำ ที่ใช้ในภาษาอังกฤษ  ซึ่งเราเองไม่คาดคิดว่าจะมีคำศัพท์มากมายในภาษามลายูที่มีใช้ในภาษาอังกฤษ  เช่น Rambutan (แรมบิวตัน) หมายถึง  ลูกเงาะ, Rattan (รอตแตน) หมายถึงหวาย, Paddy (แฟดดี้) หมายถึง ข้าวเปลือก, Durian (ดูเรียน) หมายถึง ทุเรียน

            การเกิดขึ้นของวิชามลายูศึกษานั้น หลายต่อหลายท่านเข้าใจผิดว่า สาขาวิชามลายูศึกษานั้นเกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย หรือไม่ก็อินโดเนเซีย  แต่ความจริงแล้วสาขาวิชามลายูศึกษา เกิดขึ้นครั้งแรกในสถาบันการศึกษาในทวีปยุโรป ที่มหาวิทยาลัยไลเด็น (Leiden University) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อมาสาขาวิชามลายูศึกษาจึงได้แพร่หลายยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา

            สำหรับมหาวิทยาลัยไลเด็น (Leiden  University)  ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งขึ้นในปี 1575 เป็นแหล่งแรกที่กำเนิดของวิชามลายูศึกษา  โดยเริ่มเกิดขึ้นในปี 1876  เน้นเกี่ยวกับภาษา  วัฒนธรรม วรรณกรรมอินโดเนเซีย   นอกจากนั้นยังมีการสอนเกี่ยวกับภาษาชวา  ความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ในอินโดเนเซีย

           ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไลเด็นแห่งนี้ ก็ยังเปิดสอนระดับปริญญาโทด้านมลายู-อินโดเนเซียศึกษา    แบ่งออกเป็นสาขาภาษาและวัฒนธรรมมลายู/อินโดเนเซีย  ภาษาและวัฒนธรรมชวา  นอกจากมหาวิทยาลัยไลเด็น ยังมีอีกสถาบันหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับมลายู-อินโดเนเซีย คือ Royal Institute of Linguistics and Anthropology(Koninklik Koninklik Instituutvoor Taal, Land, enVolkenkunde) ซึ่งจัดตั้งในปี 1851 ถือเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับมลายูศึกษาอีกแห่งที่ดีที่สุดในยุโรป

            ในอดีตชาวตะวันตกมีความจำเป็นยิ่ง ที่จะต้องศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับมลายูศึกษา ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ทางการเมือง การปกครอง และการค้า ล้วนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ชาวตะวันตกต้องการ  เฉกเช่นเดียวกับในปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องมีการศึกษา ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน 

            ปลายปี 2558 ก็จะเกิดประชาคมอาเซียน ประเทศไทยมีการศึกษา ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้ายังเป็น  “เราไม่รู้เขา เราไม่รู้เราเอง ” ดั่งสุภาษิตที่ว่า “ รบร้อยครั้ง แพ้ร้อยครั้ง”

 

 ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับพฤษภาคม 2558