The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ประเด็นสนทนา : วสันต์ ทองสุข

สื่อมวลชนพร้อมหรือยัง?

โดย วสันต์ ทองสุข

++++++

                          .” การปฏิรูป การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตรวจสอบการทำงาน และรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงผู้ใช้สื่อ”                             

..........................................................................................................................................................

                  ปลายปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มี อาจารย์จุมพล รอดคำดี เป็นประธาน ได้แต่งตั้งผมเป็นหนึ่ง ในคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลและรู้เท่าทันสื่อ โดยมี วสันต์ ภัยหลีกลี้ เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ

                 มีอำนาจหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ จัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะ ในการปฏิรูปการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลและการรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ จัดทำแนวทางในการปฏิรูปกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูปการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำกับดูแลและการรู้เท่าทันสื่อ

                สำหรับกรอบในการดำเนินงานเบื้องต้นนั้น คณะอนุกรรมาธิการฯ จะต้องพิจารณาศึกษา และจัดทำแนวทาง ข้อสรุป ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของสื่อและผู้ใช้สื่อ การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้กับประชาชน การสื่อสารที่ก่อให้เกิดการเกลียดชัง (Hate Speed)

              ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคและใช้สื่อ มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตรวจสอบการทำงานของสื่อและผู้ใช้สื่อ เพื่อเป็นมาตรการการควบคุมโดยสาธารณะ อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนได้มีความตระหนักรู้ มีสติ ในการรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน และรู้จักใช้ประโยชน์จากสื่ออย่างสร้างสรรค์ อันจะเป็นการสร้างทักษะชีวิตที่สำคัญแก่ประชาชนในการใช้ชีวิตในยุคของสังคมข้อมูลข่าวสารและยุคของการหลอมรวมสื่อ

               ตลอดจนหามาตรการแนวทางในการกำกับดูแลการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน เพื่อหยุดยั้งไม่ให้พัฒนาไปสู่การก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง เพื่อสร้างความปรองดองและความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

              นอกจากนั้น คณะอนุกรรมาธิการฯ จะต้องพิจารณาศึกษา และจัดทำแนวทาง ข้อสรุป ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการสนับสนุนส่งเสริมมาตรฐานการใช้ และเข้าถึงสื่ออย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ให้กับประชาชน รวมทั้งให้ครอบคลุมประชาชนทุกคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอาทิ คนพิการ คนสูงอายุ เด็กและเยาวชน สตรี ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ที่อยู่ในสังคมชนบทห่างไกล ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือสื่อสารสนเทศได้ ทั้งจากความพิการ ประสิทธิภาพทางร่างกาย และความด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนในสังคม ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

               ตลอดจนการส่งเสริมการศึกษาและเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนให้รับรู้รับทราบเกี่ยวกับการใช้และการเข้าถึงสื่อ มารยาทในการใช้สื่อ รวมทั้งสิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภคสื่อ เมื่อถูกกระทำละเมิดจากสื่อ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

               ประชุมกันไปหลายครั้งแล้วมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน ว่าจะต้องมีองค์การอิสระเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลและรู้เท่าทันสื่อ โดยจะมีพันธกิจหลักคือเป็นองค์การในฐานะที่พึ่งพิงของประชาชน เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสื่อมวลชนทุกประเภท ที่ต้องการการร้องเรียนเมื่อถูกละเมิดจากสื่อมวลชน โดยจะมีอำนาจในการปกป้องประชาชนแบบบูรณาการ สามารถพิจารณาปัญหา และเป็นตัวแทนในการฟ้องร้องหรือบังคับจัดการแทนประชาชนได้ รวมทั้งนำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้เอง โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน เพื่อลดปัญหาการเตะถ่วงดึงเวลา อันจะทำให้ประชาชนเสียเปรียบเมื่อถูกสื่อมวลชนละเมิด

               องค์การนี้ยังจะมีหน้าที่ในการส่งเสริมประชาชน ในฐานะผู้บริโภคสื่อ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้มีความรู้เท่าทันสื่อทุกประเภทอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย ทั้งในการบริโภค การเปิดรับสื่อ และการใช้สื่อต่างๆ อย่างสร้างสรรค์

               การจัดตั้งกลไกการกำกับดูแลสื่อโดยภาคประชาชนและการส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อครั้งนี้  จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป

               ภาคประชาชนกำลังจะจัดตั้งองค์การตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนแล้ว

               สื่อมวลชนพร้อมหรือยัง?

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับกุมภาพันธ์ 2558