เฮดสปีช อันตราย !
นับเป็นความก้าวหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุด ที่บรรจุถ้อยคำ “ประทุษวาจา” หรือ “ วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง” หรือ hate speech เป็นข้อจำกัดการใช้เสรีภาพ อีกข้อหนึ่ง นอกจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเป็นต้นแบบในการร่างของกรรมาธิการ รัฐธรรมนูญ ที่บรรจุด้วยคำว่า ประทุษวาจา จึงเป็นคล้ายรัฐธรรมนูญตกหล่ม
รัฐธรรมนูญเดิม จำกัดเสรีภาพในเรื่อง ความมั่นคงของรัฐ สิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
ในข้อจำกัดเดิมนั้น คำว่าความมั่นคงของรัฐถูกตีความได้อย่างกว้างขวางมาก เฉพาะที่เป็นปัญหาถกเถียงกันและนำไปสู่คดีความที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจำนวนไม่น้อย คือความผิดต่อความมั่นคง ความผิดต่อสถาบัน ซึ่งผูกโยงไปถึงความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ดังนั้น เราจึงพบคดีความผิดฐานหมิ่นสถาบัน ในคดีหมิ่นประมาท และความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นคดีความที่หลายครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะมีการตีความว่า ความผิดต่อสถาบันเป็นความผิดในเรื่องความมั่นคงด้วย ทั้งที่กฎหมายคอมพิวเตอร์ไม่ได้บัญญัติไว้
และหากพิจารณาเฉพาะกฎหมายอาญาว่าด้วยหมิ่นประมาท ก็ถูกทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกับการหมิ่นประมาทตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งกฎหมายคอมพิวเตอร์บัญญัติไว้เฉพาะการหมิ่นประมาทด้วยภาพเท่านั้น หรือการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งมีหลักในการวินิจฉัยต่างกับคดีหมิ่นประมาททั่วไป อย่างไรก็ตามหากมีการฟ้องหมิ่นประมาททั้งกฎหมายอาญา และกฎหมายคอมพิวเตอร์ นั่นหมายถึงผู้ถูกฟ้อง จะต้องรับโทษหนักขึ้น และถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้
ข้อสังเกตเรื่องความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เมื่อเทียบกับคำว่า “ประทุษวาจา” “วาทกรรมแห่งความเกลียดชัง” ก็คือการเปิดช่องทางให้มีการตีความอย่างกว้างขวาง ซึ่งโดยความหมายของวาทกรรมแห่งความเกลียดชังนั้น ไม่อาจเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรได้ เนื่องจากยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน และวันข้างหน้าก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของคู่ขัดแย้งทางการเมืองได้ เช่นเดียวกับความผิดบางฐานที่กลายเป็นคดีความ ฟ้องกันไปฟ้องกันมาไม่รู้จบ
ในทัศนะของผมที่เคยได้ตอบงานวิจัยของ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ เห็นว่า การจัดการกับเฮดสปีช ไม่อาจใช้กฎหมายมาเป็นหลักในการวินิจฉัยได้
เพราะจากสรุปความหมาย คำว่า ความเกลียดชัง ในงานวิจัย เขาอธิบายว่า คือ การใช้คำพูดหรือการแสดงออกทางความหมายใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ ฐานของอัตลักษณ์ ซึ่งอาจจะติดตัวมาแต่ดั้งเดิม หรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่นที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้ การแสดงความเกลียดชังที่ปรากฏอาจเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงด้วยก็ได้
ความหมายของเฮดสปีช แตกต่างจากการหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำ ในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แปลว่า การหมิ่นประมาทนั้น ผลหรือความรู้สึกว่าถูกหมิ่นประมาทจะเกิดขึ้นทันที และก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งหมิ่นประมาท และละเมิด อันเป็นจุดเริ่มต้นในการนับอายุความฟ้องร้องคดี
แต่ เฮดสปีช ไม่สามารถบอกได้ในขณะนั้นว่า เป็นวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง จนกระทั่งนำไปสู่ความรุนแรง หรือลุกขึ้นมาเข่นฆ่ากันหรือไม่ เช่น การเปิดสถานีวิทยุยานเกราะก่อนยุค 6 ตุลา ให้ประชาชนฝ่ายที่ต่อต้านนักศึกษา มาออกอากาศ พูดว่า ผู้ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแกว เป็นญวน ไม่ใช่คนไทย หรือในธรรมศาสตร์ เป็นที่ซ่องสุมอาวุธและกำลัง มีอุโมงค์ลับที่เชื่อมออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา
จนกระทั่งในที่สุด ทำให้กลุ่มชนจำนวนหนึ่งลุกฮือเข้าไปล้อมปราบนักศึกษา เข่นฆ่า ทารุณกรรมด้วยวิธีต่างๆทั้งที่เป็นคนเผ่าพันธุ์เดียวกัน ซึ่งคนที่มีความเป็นมนุษย์จะไมมีวันทำเช่นนี้
ฉะนั้น หากจะนิยามให้ใกล้ความจริงมากที่สุด ก็ต้องบอกว่า เฮดสปีช คือ วาทกรรมที่สร้างและสั่งสมความเกลียดชัง จนกระทั่งนำไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
น่ายินดีที่มีการทบทวนกันอย่างละเอียดรอบด้านอีกครั้ง และตัดคำว่า “เฮดสปีช”ออกไป มิฉะนั้นแล้ว “เฮดสปีช” จะเป็นความเลวร้ายชนิดใหม่ของสังคมไทย และกลายเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนและทำร้ายคนอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ชอบธรรม