กีตาบยาวี: ภูมิปัญญาอิสลามสู่นักวิชาการศาสนามลายูมุสลิม
โดย สมาน อู่งามสิน
ในปี 1983 สถาบันศึกษาเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ISEAS - Institute of Southeast Asian Studies) แห่งประเทศสิงคโปร์ ตีพิมพ์เอกสารวิจัยและค้นคว้าลำดับที่ 33 ของ Mohd. Nor Bin Ngah เรื่อง "กีตาบยาวี: ภูมิปัญญาอิสลามสู่นักวิชาการศาสนามลายูมุสลิม" (Kitab Jawi: Islamic Thought of the Malay Muslim Scholars)
ISEAS เป็นสถาบันซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968 เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและค้นคว้าระดับภูมิภาคของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในบริบทของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย และการแปรเปลี่ยนเชิงการเมืองและสังคมในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
Mohd. Nor Bin Ngah เป็นอาจารย์แผนกอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาประวัติศาสตร์อิสลามและภูมิปัญญาอิสลามในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ บทความชิ้นสำคัญของท่านชิ้นหนึ่งคือ " นิพนธ์บางบทของนักวิชาการศาสนามลายูมุสลิมสายจารีตที่ถูกค้นพบในประเทศมาเลเซีย" (Some Writings of the Traditional Malay Muslim Scholars Found in Malaysia)
Mohd. Nor Bin Ngah นำเสนอไว้ในงานชิ้นนี้ว่า "นับตั้งแต่อรุณรุ่งแห่งอิสลามในคาบสมุทรมลายู เริ่มจากต้นศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศวรรษที่ 20 กีตาบยาวี เป็นแหล่งหลักของความรู้อิสลามโดยเหตุที่ชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาอาหรับ นักวิชาการศาสนาท่านหนึ่ง Abdullah Munshi ตั้งข้อสังเกตุว่า ชาวมลายูมุสลิมใช้ภาษาอาหรับเฉพาะเวลาทำนมาซ (ละหมาด) เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ทำให้จนถึงทุกวันนี้ กึตาบยาวี ยังถูกใช้อย่างกว้างขวางในมัสยิด สุเหร่าและปอเนาะในประเทศมาเลเซีย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กีตาบยาวี ที่ชื่อ 'รุกุูนาน' (Perukunan) ซึ่งเป็นตำราที่รวบรวมคำสอนพื้นฐานอิสลามของ Abd al-Rashid Banjar " ในที่นี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตุได้ว่า ตำราเล่มนี้มีบทบาทต่อประชาคมมุสลิมในประเทศไทยในลักษณะเดียวกันกับประชาคมมุสลิมในประเทศมาเลเซีย
ในทางภาษาศาสตร์ 'กีตาบ' หมายถึง 'ตำรา' และ 'ยาวี' หมายถึง 'คนยาวอ (ชวา)' ซึ่งก็หมายรวมถึง 'ชาวมลายูโดยรวม' โดยเหตุที่ชาวอาหรับในอดีตคิดว่าประชากรทั้งหมดในคาบสมุทรมลายูเป็นชาวชวา ดังนั้น การเขียนภาษามลายูด้วยอักขระอาหรับจึงถูกเรียกว่าอักษรยาวี ต่อความนิยมในการใช้ภาษาของชาวมลายู
คำว่า 'กีตาบ' หมายถึง 'ตำราศาสนา' และคำว่า 'ยาวี' หมายถึงชาวสุมาตราและชาวมลายูในคาบสมุทรทั้งหมดโดยรวม
ผู้เขียนกีตาบยาวี มาจากทุกพื้นที่ของคาบสมุทรมลายู ไม่ว่าจะเป็นปาตานีหรือปาเล็มบัง ส่วนมากของนักวิชาการเหล่านี้ไม่ยอมเปิดเผยชื่อตนเองเพราะต้องการทำงานเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้นไม่ใช่เพื่อโลกนี้ ขณะที่บางท่านยังเขียนตำราเป็นภาษาอาหรับอีกด้วย
โครงสร้างของประโยคและกลวิธีการเขียน ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหรับและมีภาษาอาหรับผสมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ในบทเริ่มต้นจะมีการสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าและในบทส่งท้ายจะขอให้พระองค์ทรงยกโทษให้ในความผิดพลาดจากการเขียนและขณะเดียวกันก็ขอให้ผู้อ่านช่วยกันชี้จุดบกพร่อง กีตาบยาวี
ส่วนใหญ่ได้รับการแปลหรือดัดแปลงมาจากภาษาอาหรับและตั้งชื่อเป็นภาษาอาหรับ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน สาขาวิชาของกีตาบยาวี ที่เขียนกันไว้ประกอบด้วยเอกภาพของอัลลอฮฺ นิติศาสตร์ หะดีษ อรรถาธิบายอัลกุรอาน และมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ตำราเหล่านี้ส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับสำนักคิดอิมามชาฟีอี ในเชิงนิติศาสตร์และอิมามฆอซาลี ในเชิง Sufism ในอดีตตำราเหล่านี้ถูกตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่มีลิขสิทธิ์ที่สิงคโปร์, ปีนัง, สุราบายา, มักกะฮฺและไคโร
ในศตวรรษที่ 19 Daud b. Abdullah al-Fatani เป็นนักวิชาการที่โดดเด่นอย่างยิ่ง ท่านผลิตผลงานไว้มากกว่า 20 เล่มขณะที่พำนักอยู่ในมหานครมักกะฮฺ ยกตัวอย่างเช่น ด้านนิติศาสตร์ในปี 1838 Furu' al-Masa'il ด้านเอกภาพของอัลลอฮฺในปี 1816 al-Durr al-Thamin (The Precious Pearls - ไข่มุกอันทรงค่า) ด้านหะดีษในปี 1823 Jam'al-Fawa'id ( A Collection of Useful Advice - รวมคำแนะนำอันทรงค่า) และด้านชีวิตหลังความตาย การลงโทษในหลุมฝังและความทุกข์ทรมานของผู้ที่กำลังจะจากโลกนี้ไป Kashf al-Ghammah เป็นต้น
กีตาบยาวี เป็นมรดกตกทอดอันทรงเกียรติของมุสลิมในโลกมลายู เราจึงควรเสียสละเวลาศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาอิสลามจาก กีตาบยาวี อย่างจริงจังเพื่อนำมาเป็นคู่มือในการครองชีวิตในปัจจุบันและอนาคต
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2558