จับตาสัญญาณสถานการณ์การเมืองอียิปต์
โดย ศราวุฒิ สูบเด็น
++++++++++
กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยทรงพลังและยังมีพลังในการต่อสู้ทางการเมืองในอียิปต์จนรัฐบาลอียิปต์ต้องขยายเวลาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งมีสมาชิกและแนวร่วมครอบคลุมหลายพื้นที่ทั้งในอียิปต์และประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคอาหรับ
ตั้งแต่รัฐบาลรักษาการชั่วคราวแห่งอียิปต์ประกาศให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งหนุนหลังอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี เป็นองค์กรก่อการร้ายเมื่อวันที่ 26 ธค. 2556 และห้ามทำกิจกรรมใด ๆ รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง ด้วยถูกกล่าวโทษโดยรัฐบาลว่ากลุ่มนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดสถานีตำรวจในกรุงไคโรจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
กระนั้นกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ก็มีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์อยู่เป็นระยะ ๆ พร้อมทั้งออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระเบิดโจมตีสถานีตำรวจในครั้งนั้น จนกลุ่ม " อันซอร์เบตอัล-มัคดิส " ซึ่งเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธเคลื่อนไหวในคาบสมุทรไซนาย ออกมาอ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีดังกล่าว
หลังจากนั้นรัฐบาลชั่วคราวของอียิปต์จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้น โดย พลเอก เอสซีซี ได้รับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 96.91 และทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์คนใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อ 8 มิ.ย. 57 ทำให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมโดยพรรค " เสรีภาพและยุติธรรม " เริ่มเดินขบวนประท้วงถี่และหนักขึ้น ด้วยการผ่าฝืนกฎหมายควบคุมการประท้วง
ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ นาย อัดลี มานซูร์ ประธานาธิปดีรักษาการแห่งอียิปต์ในขณะนั้นได้ลงนามบังคับใช้ไว้ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 56
อย่างไรก็ตาม กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ยังคงปลุกระดมเรียกร้องสมาชิกและแนวร่วมผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมอร์ซี ให้ออกมาตามท้องถนนทุกวันศุกร์เพื่อต่อต้านพลเอกซีซี ด้วยข้ออ้างว่าซีซีเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร และสืบทอดขั้วอำนาจเก่าจากอดีตประธานาธิบดีฮอสนีมูบารัค
สุดท้ายการประท้วงทำให้เกิดกระแสตีกลับ เมื่อประชาชนบางส่วนเริ่มขัดขวางการชุมนุมประท้วงด้วยการออกมาเผชิญหน้ากับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมมากขึ้น จนทำให้เกิดการปะทะกันทำให้มีการบาดเจ็บและสูญเสียบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ เช่นจังหวัด เอลบูฮัยรอห์ จังหวัดอเลกซานเดรีย ไคโร และอื่น ๆ นำไปสู่เกิดความวุ่นวายถี่ยิบ
ล่าสุด ศาลสูงสุดของประเทศอียิปต์มีคำตัดสินให้ยุบพรรคเสรีภาพและยุติธรรมของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และสั่งยึดทรัพย์สินของพรรคให้ตกเป็นของรัฐเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มภราดรภาพระส่ำระสายเนื่องจากแกนนำและกลุ่มแนวร่วมวัยหนุ่มสาวโดนจับสู่ขบวนการสอบสวนกักขังมากขึ้น ด้วยข้อหาปลุกระดมก่อความรุนแรง และนำมาซึ่งก่อการร้ายอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
ขณะเดียวกัน ตลอดปลายปี 57 ประธานาธิบดีซีซีแห่งอียิปต์ เดินสายพบปะผู้นำสูงสุดในภูมิภาคอาหรับและผู้นำโลกหลายประเทศด้วยกัน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนสามารถมองเห็นศักยภาพอย่างเด่นชัดและนำประเทศสู่ความเป็นปกติสุขมากขึ้นพร้อม ๆ กับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและขับเคลื่อนความมั่นคงภายในประเทศจนองค์กรต่าง ๆ ตอบรับเป็นอย่างดี
อาทิเช่นมหาวิทยาลัยอัลอัซ-ฮัร สถาบันสอนศาสนาอิสลามร่วมขับเคลื่อนอิสลามสายกลางอันปกติสุข จัดอบรมและควบคุมบุคลากรทางศาสนาทั่วประเทศ ให้เป็นไปในทิศทางซึ่งอยู่ร่วมกันทุกฝ่ายอย่างสันติสุขในสังคม จนทำให้กลุ่มภราดรภาพมุสลิมเสียมวลชนเสียรังวัดอย่างไม่เป็นท่า
ทั้งนี้ประเมินได้จากการระดมนัดชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 57 หลังจากถูกโดดเดี่ยวจากกลุ่ม 6 เมษายนที่เคยร่วมประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัคในขณะนั้น และหัวหน้าพรรคนูร์ที่เคยเคียงบ่าเคียงไหล่ในการสนับสนุนนายมอร์ซีขึ้นเป็นประธานาธิบดี ก็นำลูกพรรคตีตัวออกห่างและยังกล่าวแถลงการณ์ว่า ..." การปฏิเสธกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ไม่ใช่การเป็นการปฏิเสธอิสลาม" ดร.ยูนุสมัคยูนหัวหน้าพรรคนูร์กล่าว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบปีที่ 4 แห่งการปฏิวัติโค่นล้มประธานาธิบดีมูบารัค กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ได้จัดระดมมวลชนนัดเผชิญขั้นแตกหักอีกครั้ง หวังยึดวงเวียนใหญ่ ๆ ในไคโร ทำให้เกิดการเผชิญก่อความวุ่นวายในบางพื้นที่
แต่หน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐอียิปต์สามารถรับมือไว้ได้ ขณะเดียวกันในวันดังกล่าว ก็มีมวลชนรวมตัวเฉลิมฉลองอย่างสันติตามสถานที่สำคัญ ๆ หลายจังหวัด ถือป้ายและรูปประธานาธิบดีซีซีพร้อมทั้งเปล่งเสียงอียิปต์จงเจริญสลับกับส่งเสียงให้กำลังใจประธานาธิบดีในการนำพาประเทศต่อไป
ภาพที่เห็นสะท้อนให้เห็นถึงการตอกฝาโลงกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ ส่วนจะสนิทหรือไม่คอยจับตาดูอีกช่วงสำคัญนั่นคือ การที่ นายอัยมัน อับบาส ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งอียิปต์ประกาศเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2558 ว่าหลังจากที่ กกต.อียิปต์ได้ปรึกษาแล้ว มีมติให้กำหนดวันเปิดรับสมัครผู้ประสงค์จะเข้ารับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 21-23 มี.ค. 2558 และกำหนดลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 25-27 เม.ย. 58 นี้
จากนี้ ไปอียิปต์จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอันสงบอีกครั้ง พร้อมทั้งเป็นชาติรักษาสมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศชาติอิสลามด้วยกันในภูมิภาคอาหรับและอื่นๆ ได้แค่ไหน หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ น่าจะเป็นคำตอบอีกหนึ่งวาระ...
ตีพิมพ์ตชครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2558