การเงินอิสลามในมุมมองของลุงธง (ตอน2)
วิธีคิด แบบอิสลาม คือ วิถีการดำเนินชีวิตที่ถือว่า ทุกชีวิตพึ่งพาเกื้อกูลอาศัยกัน
ดังนั้น การเงินอิสลาม จึงไม่เอาเปรียบผู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่า แต่เป็นการเข้าไปช่วยเหลือให้ผู้มีอำนาจต่อรองน้อยให้ได้รับการช่วยเหลือ การปฏิบัติต่อผู้ด้อยโอกาสอย่างเมตตา และอยู่รอดและมีกำไร นำกำไรมาแบ่งปันกัน เป็นหุ้นส่วนกัน แบ่งหน้าที่กันทำ คนหนึ่งลงเงิน อีกคนหนึ่งลงแรง ลงความรู้ ลงการจัดการ เป็นต้น จึงไม่มีใครขัดผลประโยชน์ใคร ในกระบวนการนี้เลย
ในโลกตะวันตก คิดเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ด้วยระบบการเงินเสรี หรือทุนนิยม ใครมีทุนก็จะได้รับการปกป้อง กฎหมายจะคุ้มครองคนมีเงินทุน มีการจัดตั้งองค์กรทางการเงินมากมายเพื่อดูแลคนมีเงินทุน จนมีคติว่า ธุรกิจสุดท้ายของคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ก็คือ การให้เงินทำงานแทนเรา
แต่ในทางอิสลาม ถือว่าเป็นบาปเพราะนั่น คือ การเอาเปรียบผู้อื่นมากเกินไป
ในระบบธนาคารพาณิชย์ มีการวิเคราะห์ความสามารถของลูกหนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ดี แต่เอาเข้าจริงๆ คือ การเห็นแก่ตัว มากขึ้นๆ จนในที่สุดก็เกิดการทุจริต ต้องมีการเรียกเงินปากถุงของเจ้าหน้าที่สินเชื่อ หรือผู้มีอำนาจอนุมัติเงินกู้ เพราะเลือกที่จะให้ใครก็ได้และพร้อมที่จะบังคับเอาคืนจากหลักประกันที่นำมาเป็นประกัน และไม่รับรู้ความเสี่ยงทางการตลาด การบริหารจัดการ และเรื่องอื่น ๆ
โดยสัญญากู้จะกำหนดให้ธนาคารได้เปรียบอย่างมากมาย ในการได้รับเงินกู้ยืมคืนก่อนผู้อื่นและไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขฟื้นฟู เยียวยา สนับสนุน แก้ไข ลูกหนี้ให้ประสบความสำเร็จในการประกอบการ ธนาคารต้องได้เงินคืนเท่านั้น นี่คือ หลักคิดของการเงินในโลกตะวันตก ที่ประเทศไทยก็ใช้หลักการเดียวกันนี้อยู่ในการกำกับธนาคารพาณิชย์
แต่การเงินอิสลามคิดแตกต่างโดยสิ้นเชิง
เพราะธนาคารคือผู้ร่วมกิจการ ร่วมลงทุน ร่วมรับผิดชอบกับผู้ประกอบการทุกรายเป็นผู้ให้โอกาส จัดสรรโอกาสดี และเหมาะสมให้กับผู้ที่มีความสามารถทำการงาน แต่ขาดแคลนทุน ธนาคารอิสลามฯ มีอุดมการณ์แบบนี้ และการแก้ไขปัญหาธนาคารก็ต้องเข้าใจอุดมการณ์แบบนี้ และแก้ไขบนพื้นฐานความรู้ ความคิดแบบนี้ด้วย
เมื่อทำถูกต้องตามหลักการนี้ความร่วมมือของภาคประชาชนมุสลิมก็จะเกิดขึ้น เป็นความมั่นคงของธนาคารอิสลามฯ หรือระบบการเงินอิสลามอย่างแท้จริงได้
เอาล่ะครับ ในบทนี้เป็นเพียงการอุ่นเครื่องให้มีความร้อนเล็กๆ น้อยๆ พอเพียงต่อการสนใจติดตามในรายละเอียดตอนต่อไปเท่านั้น
อิสลามเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่มีรายละเอียดที่แยบคายตั้งเริ่มต้นชีวิต คือ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งมีหน้าที่ต่อสังคม และตายจากโลกนี้ไป มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจอย่างจับจิตจับใจทีเดียวครับ ลุงธงจะขอใช้คำว่า วิถีอิสลาม โดยเล่าถึงที่มาที่ไปของวิถีอิสลามก่อน เพราะเป็นพื้นฐานที่ต้องรู้ก่อน ว่า ทำไมการเงินอิสลามจึงคิดอย่างนี้ ปฏิบัติต่อกันแบบนี้ แล้วธนาคารหรือระบบการเงินอิสลามจะมั่นคงจริงหรือ!!
เพราะความเข้มแข็ง มั่นคง ของอิสลามไม่ใช่แค่การเป็นศาสนาที่ยึดโยงอยู่กับพิธีกรรมต่างๆ ที่เป็นบุญ ละเว้นบาปตามที่ศาสนากำหนด อย่างที่เราเข้าใจกัน แต่เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติตามปกติ ทุกวัน ทุกเวลา ที่ควรจะต้องเป็นของมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องสังกัดศาสนาใดๆ…(ติดตามตอนต่อไปครับ)
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนธันวาคม 2557