คอลัมน์ " คุยกับลุงธง"
การเงินอิสลาม ในมุมมองของลุงธง
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ได้รับการทาบทามจาก นิตยสาร ดิอะลามี่ ให้ลุงธงเขียนเรื่องนี้ ลุงธงคิดอย่างไร ซึ่งอาจจะหลายตอน เพราะคงต้องพูดกันยาวสักนิด และเป็นเรื่องที่คนในโลกนี้ไม่เคยคิด แต่อาจจะไม่เชื่อว่า วิธีการคิดแบบนี้มีอยู่ในโลกใบนี้
ระบบการเงิน ทุกระบบ ต่างก็คิดค้นหาวิธีการบริหารจัดการ หรือจัดสรรผลประโยชน์ของทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม เพื่อนำทรัพยากรหรือเงินทุน ทรัพย์สินต่าง ๆ เหล่านั้น ที่ยังไม่ก่อประโยชน์อย่างเต็มที่ หรือยังไม่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคม และเกิดความเป็นธรรมในสังคม
แต่ผลที่ปรากฏอาจจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น !!!!
สังคมธุรกิจกำลังมีปัญหาในด้านการแสวงหากำไร บนความทุกข์ยากลำบาก และการขาดทุนฝ่ายเดียวของลูกหนี้ธนาคาร และทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากล้มละลาย ฆ่าตัวตาย หนี้หนี้ และเป็นอาชญากรทางเศรษฐกิจ เพราะความไม่เป็นธรรมในระบบดอกเบี้ย ที่นายทุนทำตัวเป็นเสือนอนกิน ถือว่าตนเอง ต้องได้กำไรฝ่ายเดียว โยนความเสี่ยงและการขาดทุนไปให้ไว้กับผู้ประกอบการ ที่มากู้ยืมเงินจากธนาคารไปฝ่ายเดียว เพราะระบบการเงินที่โลกนี้กำลังใช้อยู่อย่างกว้างขวาง กำลังทำร้าย เอาเปรียบคนด้วยกันเอง โดยไม่มีความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
นี่คือ สิ่งที่ลุงธงจะอธิบายในมุมตรงกันข้ามกับระบบนี้ว่ามันมีอยู่ และมีมาแล้วมากกว่าหนึ่งพันปี
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ระบบการเงินนี้ชี้ให้เห็นถึงอีกมุมหนึ่ง อันเป็นมุมตรงกันข้ามคือ ระบบการเงินที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับระบบดอกเบี้ยอย่างเด็ดขาด แต่ใช้การแบ่งปัน เกื้อกูล ร่วมลงทุนและแบ่งปันผลกำไรของกิจการที่ลงทุนร่วมกัน เรียกว่า ระบบการเงินอิสลาม
ระบบการเงินอิสลาม จะไม่มีเจ้าหนี้ ไม่มีลูกหนี้ มีแต่การเป็นเจ้าของร่วมหรือหุ้นส่วน หรือผู้ร่วมลุงทุน ในระบบการเงินอิสลามจึงไม่มีคำว่า หนี้เสีย หนี้ด้อยคุณภาพ หนี้จัดชั้น เพราะไม่มีใครเป็นหนี้ใครในระบบนี้
มีแต่การร่วมกันทำธุรกิจโดยแบ่งหน้าที่กัน แบ่งความรับผิดชอบกันตามความสามารถที่แท้จริง และต้องเกื้อกูลสังคมร่วมกัน
เอาล่ะครับ แล้วระบบสังคมไทยจะพัฒนาระบบการเงินอิสลามขึ้นได้อย่างไร เรามาติดตามลุงธง กันต่อไปว่า ลุงธงจะเฉลยเรื่องนี้อย่างไร ตามติดกันในฉบับหน้าครับ
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือน พฤศจิกายน 2557