บรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองจากกลันตันสู่สยาม
ค.ศ. 1979 อับดุล ฮาลิม นาซิร (Abdul Halim Nasir) เขียนหนังสือชื่อ คู่มือเยี่ยมชมสถานที่ประวัติศาสตร์นครรัฐกลันตัน (Guide to Historical Sites KELANTAN) โดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมาเลเซียเป็นผู้จัดพิมพ์ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสุสานของกษัตริย์ผู้ครองนครรัฐกลันตัน แต่ก็มีสถานที่แห่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลันตันกับสยาม
สุลต่านมุหัมมัด ที่ 2 ปกครองกลันตันเป็นเวลานานถึง 49 ปีระหว่างค.ศ. 1837-1886 ในช่วงนี้นครรัฐสยามมีอิทธิพลเหนือนครรัฐกลันตัน ทำให้กลันตันต้องส่งเครื่องบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้แก่สยามทุกๆ 3 ปี ระบบบรรณาการเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนครรัฐเล็กกับนครรัฐใหญ่ที่เน้นการอยู่ร่วมกันฉันท์มิตร พึ่งพาและแลกเปลี่ยน นครรัฐเล็กมีอิสระในการจัดการปกครอง โดยที่นครรัฐใหญ่ไม่ใช้อำนาจบีบบังคับส่งกำลังเข้าไปปกครอง แต่เน้นการเป็นศูนย์กลางอำนาจในเชิงสัญญลักษณ์
ค.ศ.1855 สุลต่านมุหัมมัด ที่ 2 มีพระราชโองการให้สร้างเรือนขนาด 30 ฟุต x 17 ฟุต สำหรับช่างเงินช่างทองผู้ชำนาญการประดิษฐ์ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ที่มีความซับช้อนสูงเป็นเครื่องบรรณาการแก่สยาม ช่างเงินช่างทองผู้ชำนาญการเหล่านี้จะใช้ฐานประตูที่ถูกยกระดับขึ้น 6 จุด ในเรือนเป็นพื้นที่ในการทำงาน
ในค.ศ. 1909 รัชสมัยสุลต่านมุหัมมัด ที่ 4 มีการเซ็นสัญญาระหว่างอังกฤษกับสยาม โดย สยาม ยินยอมยกสิทธิทั้งหลายทัั่้งปวงในกลันตันให้แก่อังกฤษ
นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างกลันตันกับสยาม ทำให้ประเพณีการส่งบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทอง เป็นอันยุติโดยปริยาย และเป็นจุดที่นักประศาสตร์ร่วมสมัย (contemporary) หลายท่านอธิบายบริบทของสภาวการณ์ในขณะนั้นว่า ในเชิงพื้นที่กลันตันไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม
จึงทำให้เราเห็นว่าความพยายามในการสร้างประวัติศาสตร์บาดหมาง และประวัติศาสตร์บาดแผลเป็นสิ่งที่เหลวไหลและไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง
เรือนที่เห็นอยู่ในภาพยังคงถูกรักษาไว้ แต่ปัจจุบันเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของพนักงานพระราชวังบาไล เบซาร์ ( Balai Besar Palace)
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับสิงหาคม 2557