มายาคติที่โลกมุสลิมต้องก้าวข้าม
โดย บัณฑิตย์ สะมะอุน
++++++++++++++
ปัญหาหนึ่งที่ทำลายความสามัคคีและความมั่นคงของสังคมมุสลิมมายาวนาน คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนิกายซุนนีย์และชีอะห์ ซึ่งเกิดจากความคลุมเครือในเรื่องของการสรรหาผู้นำ ที่ถูกยอมรับจากสังคมจากความขัดแย้งในเรื่องการสรรหาผู้นำ จนถูกขยายออกไปเป็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติของสองลัทธิดังกล่าว
การจุดประเด็นซุนนีย์/ชีอะห์ให้ติด จึงหนีไม่พ้นปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติติดตามมาด้วย เช่น อิรักอิหร่าน ที่มีแนวทางในเรื่องเอกภาพของความเป็นพี่น้องมุสลิมไม่ว่าจะเป็นซุนนีย์ หรือชีอะห์ มาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติอิหร่าน และหลังจากการโค่นล้มราชวงศ์ชาในอิหร่าน
บรรดาผู้รู้(อุลามาอฺ)ของทั้งสองฝ่ายต่างเข้าใจปัญหาความขัดแย้ง และได้รับประสบการณ์ความสูญเสียที่ถูกสร้างขึ้นนี้ดี โดยมีการเรียกร้องให้เลิกโต้เถียงในประเด็นขัดแย้งทางศาสนา และปัญหาความขัดแย้งในเรื่องวิธีการสรรหาผู้นำ มุ่งเน้นไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง แทนประเด็นขัดแย้งที่ไม่เกิดประโยชน์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
และต้องยุติสงครามระหว่างมุสลิมด้วยกัน แม้ว่ามันจะมีเหตุมีผลอย่างไรก็ตาม นี่เป็นทางออกเดียว ที่จะเรียกความเป็นพี่น้องมุสลิมกลับคืนมาอีกครั้ง
ประเด็นความขัดแย้งซุนนีย์/ชีอะห์ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาจากความรักที่มีต่อศาสดา (ซ.ล) และศาสนาอิสลาม แต่เมื่อกลายเป็นความขัดแย้งกัน ฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำจะถูกทำให้กลายเป็นผู้เกลียดชังจากอีกฝ่าย และจากความรักที่ทำให้กลายเป็นความเกลียดชังในสายตาของคนภายนอก และหลังจากสงครามระหว่าง อิรัก/อิหร่าน ที่รบกันนานหลายปี
สาเหตุของสงครามกลับถูกมองเป็นเรื่องความขัดแย้งทางลัทธิความเชื่อทางศาสนาระหว่างซุนนีย์/ชีอะห์ ทั้งที่ในความเป็นจริง เป็นสงครามที่มหาอำนาจต้องการเข้าแทรกแซงผลประโยชน์ จากประเทศทั้งสอง
ซุนนีย์ / ชีอะห์ จึงเป็นทางออกให้รอดตัวของมหาอำนาจ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนให้เกิดสงครามระหว่างอิรัก/อิหร่าน ที่ยาวนาน ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มตอลีบัน และอัลกออิดะห์ ต่อความขัดแย้งระหว่างอัฟกานิสถาน/ปากีสถาน กับอเมริกาและรัสเซีย หรือ ความขัดแย้งอาหรับกับยิว ในปัญหาอิสราเอลกับปาเลสไตน์
กลุ่มขบวนการที่เกิดขึ้น ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของมหาอำนาจ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคทั้งสิ้น
ความเข้าใจดังกล่าวนี้ เริ่มเป็นที่ชัดเจนมากขึ้นต่อประชาคมโลกในปัจจุบัน การแทรกแซงผลประโยชน์ของมหาอำนาจต่อประเทศอื่นในช่วงหลังๆ ก็มักจะขาดแรงสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ยกเว้นพันธมิตรบางประเทศเท่านั้น
นี่เป็นภาพที่ชัดเจนว่าวิธีการหรือมุขเดิมๆที่มหาอำนาจเคยใช้กับโลกมุสลิม เริ่มใช้ไม่ได้แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน
และถึงวันนี้ประเทศที่บอบช้ำอย่าง อิรักและซีเรีย กำลังถูกแบ่งแยกและรุมกินโต๊ะ มีการประกาศตัวเป็นผู้นำในรูปแบบของคอลีฟะห์ ของ อบูบักร อัล บัคดาดี ซึ่งได้ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลซีเรียและอิรัก และยังได้ประกาศการเป็นรัฐอิสลามเหนืออาณาเขต ที่ยึดครองได้จากซีเรียและอิรัก
แต่การประกาศดังกล่าว ของ บัคดาดี ในการจะใช้ระบบคอลีฟะห์ ในการปกครอง เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นอันตรายมากกว่า เพราะหากประกาศเป็นระบบคอลีฟะห์ ขึ้นจริง ความขัดแย้งจากการยอมรับในตัว บัคดาดี ในฐานะคอลีฟะห์ อาจเป็นสะพานใหม่ที่ทอดยาวสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคให้ยืดยาวออกไป
เพราะการประกาศตัวเป็นคอลีฟะห์นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จะทำให้เกิดความไม่พอใจกับทั้งฝ่ายซุนนีย์และชีอะห์ อีกต่อไป โดย เชค อัล กอรฎอวี กล่าวว่า การประกาศตัวเป็นคอลีฟะห์ของ บัคดาดี นั้น เป็นเรื่องที่ละเมิดกฎหมายชาริอะห์
ขณะที่ เชค อับบาส ซูมาน ผู้อาวุโสของ อัล อัซฮัร กล่าวว่า เขาเชื่อว่าปัจจุบันผู้ที่พูดถึงเกี่ยวกับรัฐอิสลามแบบคอลีฟะห์ ล้วนเป็นผู้ก่อการร้าย และสื่อในโลกอาหรับยังพูดถึงกรณีนี้ว่า รัฐอิสลามแบบคอลีฟะห์ของบัคดาดี นั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าประกาศของชายคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มก่อการร้าย
การประกาศรัฐอิสลามแบบคอลีฟะห์ หากเกิดขึ้นจริง ในอนาคตมันคือระเบิดเวลาลูกใหม่ ที่ถูกตั้งไว้ เป็นอันตรายต่อทั้งอิรักและซีเรีย อันตรายทั้งกับซีอะห์และซุนนีย์
และที่สำคัญคือ อันตรายต่อการประสานความสัมพันธ์ของพี่น้องมุสลิม และล่อแหลมว่าจะเกิดกลุ่มก่อการร้ายที่มีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นกว่าในปัจจุุบัน และเพราะปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างซุนนีย์และชีอะห์ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความเห็นต่างอย่างรุนแรงที่มีต่อระบบคอลีฟะห์ ในอดีตนั่นเอง ........
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนสิงหาคม 2557