The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   Melayu Focus: นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

ภาษาชนชาวเจียเจียในอินโดเนเซีย กับการใช้อักขระฮันกึล ของเกาหลี


โดย นิอับดุลรากิ๊บ  บินนิฮัสซัน

  

            การที่ “ศูนย์นูซันตาราศึกษา” เป็นศูนย์ศึกษา ค้นคว้า ความเคลื่อนไหวในภูมิภาคมลายู หรือ นูซันตารา (Nusantara) ทำให้มีการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคมลายู หรือ อาจเรียกว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนของชนชาติพันธุ์มลายูก็น่าจะไม่ผิด

            ในครั้งนี้จากการศึกษาอิทธิพลของวัฒนธรรมเกาหลี ที่มีต่อชาวอินโดเนเซีย นั้น ก็ได้มีการค้นพบความน่าสนใจของชนชาวเจียเจีย ใน เกาะบูตน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสุลาเวซีตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดเนเซีย   

          ในเดือนสิงหาคม 2009 นายอามี รุลตามีน นายกเทศมนตรีของเมืองบาวบาว ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่าง ปี 2003-2012  โดย เมืองบาวบาว ตั้งอยู่บนเกาะบูตน ซึ่งเกาะบูตน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุลาเวสี ได้ประกาศว่า ชนพื้นเมืองชนชาวเจียเจีย ซึ่งมีประชากรราว 60,000 คน ได้ยอมรับการเขียนภาษาเจียเจีย ด้วยการใช้อักขระฮันเกิล อันเป็นอักขระ ที่ใช้ในการเขียนภาษาเกาหลี

           รศ. ดร. ปริศวร์   ยิ้นเสน คณบดีคณะมุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญภาษาเกาหลี ได้กล่าวถึงบทบาทของเกาหลีที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ

          ประการแรก เป็นเรื่องของ K-Pop เป็นเรื่องของการส่งเสริมให้ผู้คนทั่วไปนิยม ชมชอบเพลงเกาหลี ละครเกาหลี และรวมทั้งภาพยนตร์เกาหลีด้วย 

          ประการที่สอง ด้านการลงทุน การอุตสาหกรรมของเกาหลีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประการที่สาม ด้านการกำหนดนโยบายต่างประเทศของเกาหลีในการส่งเสริม เผยแพร่วัฒนธรรมต่างๆของเกาหลีสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

            ความเป็นมาของการยอมรับอักขระฮันกึล ในการเขียนภาษาเจียเจียนี้ ด้วยภาษาเจียเจีย เป็นภาษาพื้นเมืองภาษาหนึ่งของอินโดเนเซีย และเป็นภาษาที่ไม่มีอักขระเป็นของตนเอง

            ภาษาเจียเจีย หรือ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ภาษาบูตนใต้  มีการพูดในกลุ่มคนแก่ของชนชาวเจียเจีย ส่วนคนหนุ่มสาว จะพูดในภาษาท้องถิ่นของเกาะบูตน อีกภาษาหนึ่ง คือ ภาษาวอลีโอ หรือไม่ ก็พูดภาษาอินโดเนเซีย ทำให้จำนวนประชากรที่พูดภาษาเจียเจีย จึงมีจำนวนลดลง

            ในงานสัมมนานานาชาติเกี่ยวกับภาษา เมื่อวันที่  5-8 สิงหาคม 2005  จัดขึ้นที่เมืองบาวบาว  ในช่วงการลงพื้นที่ของบรรดาผู้เข้าร่วมสัมมนาในเมืองบาวบาว นายอามีรุลตามีน นายกเทศมนตรีของเมืองบาวบาว ขณะนั้นได้บอกแก่ นักวิชาการชาวเกาหลีระบุว่า การใช้อักขระในการเขียนภาษาเจียเจีย มีปัญหา การใช้อักขระลาติน ตามที่ภาษาอินโดเนเซีย ใช้นั้น มีบางส่วนไม่ตรงกับเสียงในภาษาเจียเจีย 

            โดย ศาสตราจารย์ ดร. ชอน ไต ฮยอน อาจารย์แห่งภาควิชาอินโดเนเซีย-มลายูศึกษา ของมหาวิทยาลัยฮันกุกฯ ประเทศเกาหลี ซึ่งเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนั้นด้วย ได้เสนอให้ใช้อักขระฮันกึล แทน 

            หลังจากนั้นราวเดือนธันวาคม 2008  ดร. ชอน ไต ฮยอน  เริ่มทำการศึกษา ด้วยการช่วยเหลือด้านงบประมาณจากสมาคมฮนมิน จองอึม ซึ่งเป็นสมาคมที่ส่งเสริม เผยแพร่การใช้อักขระฮันกึล ภายหลังมีการนำครูชาวเมืองบาวบาว ไปศึกษาการใช้อักขระฮันกึล สำหรับการเขียนภาษาเจียเจีย ที่ประเทศเกาหลีใต้  และมีการเซ็นสัญญาเป็นทางการ เพื่อใช้อักขระฮันกึลโดยความช่วยเหลือจากประเทศเกาหลีใต้เมื่อ 29 กันยายน 2010 

           " และสิ่งที่ชาวเมืองบาวบาว เมืองเล็กๆ บนเกาะบูตน ซึ่งถือได้ว่าเป็นดินแดนไกลปืนเที่ยงจากกรุงจาการ์ตา ได้รับนั้นคือ การที่เมืองบาวบาว ได้กลายเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ "

           แรกเริ่มสิ่งที่เมืองบาวบาว ดำเนินการคือ ส่งเสริมให้มีการสอนภาษาเจียเจียด้วยอักขระฮันกึล โดยให้เด็กนักเรียน ชั้นป. 4 ของโรงเรียนประถมจำนวนสามโรงได้เรียนภาษาเจียเจีย ของตนเองด้วยอักขระฮันกึล มีการทำป้ายชื่อถนนเป็นภาษาเจียเจีย ด้วยอักขระฮันกึล หรือ แม้แต่ชื่อโรงเรียนประถม ก็มีป้ายชื่อโรงเรียนด้วยภาษาเจียเจียอักขระฮันกึล

            นอกจากนั้นมีการเขียนหนังสือวิชา ภาษาเจียเจีย เล่มที่ 1 โดยใช้อักขระฮันกึลในการเขียนภาษาเจียเจีย

            สิ่งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าอิทธิพลของเกาหลี ค่อนข้างมีอิทธิพลมากในภูมิภาคมลายู หรือ นูซันตารา (Nusantara) และสิ่งนี้ก็เป็นการพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งว่า จริงๆ แล้ว ภูมิภาคมลายู หรือ นูซันตารา มีอะไรอีกมากที่เรานึกว่าเรารู้แล้ว แต่จริงๆ แล้วเรายังไม่รู้

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร อะลามี่ ฉบับเมษายน2557