The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   แนะนำคอลัมน์ใหม่ "คม-คิด" : สู้แบบมุสลิม

คอลัมน์ใหม่ "คม-คิด"

โดย จอกอ 

      ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ                                                 

++++++

สู้แบบมุสลิม

          นถึงวันนี้ ผมอยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชนมา 34 ปีแล้ว ผ่านบททดสอบที่เข้มข้นอย่างยิ่ง ทั้งงานการที่ต้องปรับตัวไม่ให้ตกยุคสมัยเทคโนโลยีครองโลก และทั้งการสร้างการยอมรับในฐานะมุสลิมคนหนึ่งในวงการ

            การสร้างการยอมรับ จนถึงระดับที่ให้การรับรองบทบาทผู้นำองค์กรสื่อระดับชาติ แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่าท่านนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรกคือคุณอิศรา อมันตกุล ซึ่งบัดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ขององค์กรสื่อไทยไปแล้วในหลายมิติ อาจใช้เวลาพิสูจน์ค่อนข้างยาวนาน แต่ด้วยหลักการการใช้ชีวิต และการงานแบบมุสลิม ที่เคร่งครัด และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใดๆง่ายดาย วันหนึ่งผมก็ได้ประกาศตัวเป็นมุสลิมคนแรกบนตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ด้วยความเมตตาของพระเจ้า

           ในเส้นทางของอาชีพสื่อนั้น ผมมีโอกาสไม่มากนักที่จะใช้พื้นที่ของหนังสือพิมพ์ที่เราเป็นบรรณาธิการ ให้ความจริงบางด้าน ที่สื่อไทยส่วนใหญ่ใช้ความรู้พื้นฐานจากสื่อตะวันตก ผสมผสานกับทัศนคติ อารมณ์ความรู้สึกที่หมิ่นแคลนความเป็นมุสลิม บิดเบือนความจริง ทำให้มุสลิมกลายเป็นผู้ร้าย สงครามอ่าวเปอร์เซีย ครั้งแรกที่สหรัฐเล่นบทบาทตำรวจโลก เข้าไปจัดการปัญหาข้อพิพาทระหว่างอิรักและคูเวตในปี 2546 และอีกหลายครั้งต่อมา ที่สหรัฐเป็นผู้รุกรานชาติอาหรับ จนกระทั่งวันที่สามารถจัดการกับซัดดัม ฮุสเซ็น อุซามะห์ บินลาเดน และสุดท้ายมูฮัมมัด กัดดาฟี ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สื่อใหญ่บางคนทำตัวเหมือนเป็นกระบอกเสียงให้ชาติตะวันตก เลือกข้างชาติมหาอำนาจ และแสดงความสะใจที่มุสลิมพ่ายแพ้

            แม้ในแง่ตัวบุคคล ผู้นำชาติมุสลิมบางคนต้องยอมรับว่า ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม มีปัญหาที่สร้างความไม่พึงพอใจให้กับประชาชน แต่ก็เป็นปัญหาการเมืองภายในที่เขาจะจัดการกันเอง ในเส้นทางข่าวต่างประเทศที่สหรัฐฮึกเหิม ลำพองใจในการรุกรานชาติอื่น ผมได้ใช้ความพยายามในการอธิบายความจริงบางด้านบนพื้นฐานอิสลามศึกษา เพื่อให้เข้าใจปรัชญาการต่อสู้ในแบบอิสลาม และวิธีชีวิตบางด้านที่ใช้วิถีสากลมาอธิบายไม่ได้ แต่ก็ถูกตรวจสอบ ถูกเซ็นเซอร์ แม้กระทั่งขอดูเพลท หรือแม่พิมพ์ก่อนตีพิมพ์ เพราะไม่ไว้วางใจว่าอาจเข้าข้างมุสลิม

               เริ่มปี 2547 จากเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายทหารพัฒนา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และจากวันนั้น ภาคใต้ก็ไม่เคยสงบสุขอีกเลย ความไม่สงบที่ภาคใต้มาจากหลายสาเหตุ ทั้งด้านการเมือง ปัญหายาเสพติด ความพยายามที่จะรักษางบราชการลับของฝ่ายความมั่นคง ที่จะต้องหล่อเลี้ยงสถานการณ์เอาไว้ รวมทั้งปัญหาการกดขี่ การหมิ่นแคลนทางชาติพันธุ์ที่ยังไม่เคยหมดไปจากแผ่นดินด้ามขวาน ในห้วงเวลานี้เอง ที่ผมได้ใช้พื้นที่ในนิตยสารวิเคราะห์การเมืองรายสัปดาห์ “เนชั่นสุดสัปดาห์” อยู่นานนับสิบปี ในการอธิบาย ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่มักไม่ปรากฏในสื่อไทย

                 แต่ยิ่งคนอ่านเข้าใจมากขึ้น มีพื้นที่ในการเรียนรู้อิสลามศึกษาผ่านสถานการณ์ และการสืบค้นของผมในตำหรับ ตำรา การพูดคุยกับปราชญ์มุสลิมมากขึ้น การให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้ก็น้อยลง ในที่สุดบรรณาธิการก็เดินมาบอกว่า ขอพักคอลัมน์นี้ก่อน โดยไม่บอกเหตุผล

             ผมเชื่อว่า มีทัศนคติบางอย่างฝังหัวอยู่ในสังคมไทยหลายส่วน รวมทั้งสื่อที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเข้าข้างสหรัฐทุกครั้งที่ชาติมุสลิมถูกย่ำยี ดังนั้น สื่อมุสลิม ต้องใช้ความพยายามยกระดับจากการเป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม สื่อสารกันเองในวงแคบๆ ไปสู่ความเป็นสื่อกระแสหลัก ที่เปิดตัวสู่สังคมภายนอก เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องใช้ความอดทน ใช้ความพยายามในการค่อยๆ ขยายฐาน เปิดช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเปิดตัวตนของเราให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

                  หากเราสามารถรวมสื่อมุสลิมทุกแขนงให้เป็นปึกแผ่น ระดมสมองเพื่อสร้างความเข้าใจในอิสลามให้กับสังคมไทย สื่อมุสลิมก็จะแข็งแกร่งมากขึ้น และได้รับการยอมรับให้เข้าไปมีบทบาทในสังคมวงกว้าง ซึ่งขณะนี้ ตัวแทนของเราได้เข้าไปมีส่วนในองค์กรระดับชาติบ้างแล้ว

                ผมได้เห็นแสงสว่างนั้นแล้ว และเราจะต้องเริ่มต้นก้าวไปด้วยกัน แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ ในวันนี้ก็ตาม

: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับมีนาคม 2557