“ประชาคมอาเซียนกับสันติสุขบนความหลากหลาย”
โดย สุชาติ เศรษฐมาลินี
สังคมไทยกำลังตื่นตัวอย่างมากกับการเตรียมความพร้อม เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังจะเห็นได้จากมีเวทีสัมมนาทางวิชาการมากมายมักติดป้ายชื่อ “ประชาคมอาเซียน” เพื่อบ่งบอกถึงตัวชี้วัดในการประเมินว่าสถาบันนั้นๆ ได้ใส่ใจและให้ความสำคัญ กับเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของภูมิภาคอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสิ่งท้าทายสำคัญประการหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้พูดกันอย่างจริงจังมากนักในเวทีต่างๆ ได้แก่ เอกภาพในประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาชาติพันธุ์ ที่อาจนำสู่ความรุนแรงในภูมิภาคนี้ในหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา เมียนมาร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิบปินส์ เป็นต้น
ดังนั้น การตั้งหลักเพื่อทำความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเป็นสังคมพหุลักษณ์ในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อสันติสุขของภูมิภาคแห่งนี้
ตัวอย่างรูปธรรมของความหลากหลายในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ การที่ประเทศต่างๆ มีภาษาและวัฒนธรรมของชนต่างๆ มากมาย แต่เป็นที่น่าเสียดายในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ต่างทำมาหากินกับความหลากหลายเหล่านี้ เพียงเพื่อเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศเท่านั้น โดยไม่ได้ใส่ใจและตระหนักในคุณค่าทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชนต่างๆ ทั้งหลาย
การประชาสัมพันธ์อวดอ้างถึงความหลากหลายของสถานที่และชนเผ่าต่างๆ จึงเป็นเป็นเพียงความคับแคบที่ถูกลดทอนเหลือเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้น ชนเหล่านั้นจึงยังคงเป็นที่ดูถูกดูแคลนจากคนในเมือง ว่าเป็นพวกบ้านนอกคอกนา ไร้การศึกษา ทำลายสิ่งแวดล้อมตัดไม้ทำลายป่า และ มักขัดขวางการพัฒนาประเทศโดยไม่ยอมเสียสละย้ายที่เพื่อโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ๆ ของประเทศ เป็นต้น
ดังนั้น การนิยามความหมายของคำว่า สังคมพหุลักษณ์ จึงไม่ใช่เป็นเพียงการที่สังคมนั้นๆ ประกอบด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายมาอยู่ร่วมกันเท่านั้น หากเป็นสังคมที่ต้องมีความเคารพและพยายามที่จะเข้าใจผู้อื่น รวมทั้งมีการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ลักษณะต่างคนต่างอยู่แบบทนๆ กันไป หรือพยายามครอบงำเหนือผู้อื่นที่ด้อยกว่า
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ความจริงแล้วประชาคมอาเซียน มีเสน่ห์ด้านความร่ำรวยทั้งทางธรรมชาติและความหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ แต่จากหลายๆ กรณีความขัดแย้งที่นำสู่รุนแรงในภูมิภาคนี้ ได้แก่ ชาวพุทธกับชาวโรฮิงญามุสลิมในพม่า ชาวมุสลิมกับชาวคริสต์ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย หรือกรณีความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย เป็นต้น ล้วนเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่เป็นข้อทายทายต่อสันติภาพในอาเซียน
ในฐานะ เราผู้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมแห่งนี้คงจะต้องช่วยกันขบคิดให้มากขึ้น และช่วยกันออกแบบว่า เราจะสร้างกิจกรรมอะไรกันดี เพื่อให้ผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งทางศาสนา ชาติพันธุ์ และชนชั้น ได้มีโอกาสเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์กันให้มากขึ้น เพื่อนำสู่ความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อที่จะบอกว่าประชาคมอาเซียนไม่ใช่เป็นเพียงการรวมกันของชนบางกลุ่มบางพวกเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น
ข้อท้าทายดังกล่าว สถาบันต่างๆ ในสังคมคงต้องช่วยกันหาทางออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันการศึกษา ซึ่งนับวันล้วนมุ่งสู่ความเป็นธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด ไม่ต่างไปจากบริษัทห้างร้านทั้งหลาย แทนที่จะเป็นสถาบันแห่งการสร้างปัญญา สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสู่สังคม และหล่อหลอมบุคคลให้รู้จักเอื้ออาทร รู้จักเคารพผู้อื่นที่มีความแตกต่างไปจากตนเอง
แต่สิ่งที่เราได้ยินจากลูกหลานที่อยู่ในวัยแห่งการศึกษา ในสถาบันการศึกษาทุกวันนี้คือ วัฒนธรรมการแข่งขัน ที่สร้างแต่ความเห็นแก่ตัวและการดูถูกเหยียบย่ำผู้อื่น หากสิ่งเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปในแวดวงการศึกษา การรวมตัวของประชาคมอาเซียนคงไม่มีความหมายใดๆ นอกจากเพียงเพื่อเป็นการฉกฉวยของผู้ที่มีโอกาสดีกว่าในสังคม
และที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือ สถาบันทางศาสนา ซึ่งแทนที่จะเป็นสถาบันแห่งการขัดเกลาทางจิตวิญญาณ เพื่อนำพามนุษย์สู่ความรัก ความไม่เห็นแก่ตัว แต่กลับมีตัวอย่างไม่น้อยที่ผู้นำและผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้รู้ศาสนา ได้สร้างความจงเกลียดจงชังทั้งในหมู่คนศาสนาเดียวกันเอง และสร้างความเกลียดชังระหว่างศาสนา โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงความเป็นแบบอย่างอันดีงามให้กับสังคมตามที่ตนเองพร่ำสอน จนมีผู้กล่าวว่า “ศาสนาก็มีไว้สำหรับการบรรยายเท่านั้น”
ผู้รู้ศาสนาจำนวนมากยังคงติดกับดักการแบ่งเขา-แบ่งเรา มิตร-ศัตรู โดยละเลยแก่นแท้ของศาสนาที่มุ่งสร้างความรักและสันติสุขให้กับมวลมนุษย์
ดังนั้น การเตรียมตัวสู่ประชาคมอาเซียนจำเป็นที่จะต้องปลดล็อคระบบการศึกษาที่มุ่งสร้างคนให้มีแต่ความเห็นแก่ตัว และสถาบันศาสนาที่มุ่งสร้างแต่ความเกลียดชัง เพราะหาไม่แล้วความมีสันติสุขของผู้คน บนความหลากหลายในประชาคมอาเซียนแห่งนี้คงจะเป็นสิ่งที่ยังคงอยู่ไกลเกินฝัน
ตีพิมพ์ครั้งแรก:นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์