The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   มองรอบทิศ คิดรอบด้าน : โดย พรพญา

การถ่ายเทคน ในอาเซียน กับศักยภาพของคนไทย


โดย พรพญา

            หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วันที่ 31 ธันวาคม 2557 อีก 11 เดือนจากนี้ไป ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวมตัวกันคอมมิวนิตี้ ที่เรียกว่า AEC  ที่จะมีการยักย้ายถ่ายเทเงินทุน ผู้คน (บางกลุ่ม) การซื้อขายสินค้าที่ ไม่มีกำแพงภาษีขวางกั้นอีกต่อไป

            ในการถ่ายเทคนนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นบุคคลากรที่มีทักษะสูง 7+1 อาทิ แพทย์ พยาบาล สถาปัตยกรรม นักบัญชี เป็นต้น แต่มี 1 ประเภท ที่รวมบุคคลากรตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงระดับบนสุด นั่นคือ สาขาด้านการท่องเที่ยว

            บุคคลากรด้านการท่องเที่ยว มี 32 ตำแหน่ง ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีไปยัง 10 ประเทศ ตั้งแต่ คนเข็ญกระเป๋า พนักงานต้อนรับ คนนำเที่ยว จนไปถึงผู้ประกอบการ

             ซึ่งหากดูเผินๆ คนไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆ เพราะเรามีศักยภาพเรื่องการท่องเที่ยวสูง เราให้บริการด้านการท่องเที่ยวมานานจนมีความชำนาญ มีบุคคลากรด้านนี้อยู่จำนวนมาก แต่หากเจาะลึกลงไป ข้อสมมติฐานนี้ อาจจะจริงเพียง 50% เท่านั้น

            เรามีบุคคลากรด้านนี้มากอยู่ก็จริง ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีความชำนาญประจำท้องถิ่น เช่น เกาะสมุย เกาะพะงัน กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง สตูล เป็นต้น มีจำนวนมากที่ให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยว ที่ให้บริการคนไทยกันเอง

            ปัญหาสำคัญที่สุดของเรายังเป็นปัญหาเดิมๆ คือ ภาษาอังกฤษ และมาตรฐานการศึกษาของเราต่ำ ใน 10 ประเทศ เราอยู่อันดับ 8 เป็นรองกัมพูชาด้วยซ้ำไป ความภาคภูมิใจในประเทศที่ไม่เป็นเมืองขึ้น ดูเหมือนจะเป็นตัวบั่นทอนศักยภาพของคนไทยไปในคราวเดียวกัน

             หากดูแนวโน้มของสถานการณ์ “การยักย้ายถ่ายเทคน ในภาคการท่องเที่ยว แม้จะยังเหลือเวลาอีกเกือบปีที่เราจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ยกตัวอย่าง ที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับโซนอันดามัน ภูเก็ต พังงา กระบี่ ท่านที่เดินทางไปยัง 3 พื้นที่นี้ อาจได้เห็นภาพที่เปลี่ยนไป

            พื้นที่ เกาะพะงัน มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากพม่า มาสู่เกาะแห่งนี้จำนวนมาก และแรงงานเหล่านี้ได้เข้าสู่ภาคการท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว ด้วยความชำนาญด้านภาษา คนพม่าผู้ชายประจำอยู่กับเรือสปีดโบ๊ท ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยไกด์ หรือบางลำเป็นไกด์ด้วยซ้ำไป คนไทยที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษถึงกับมึนงงกับคำอธิบาย คำแนะนำที่เป็นภาษาอังกฤษชัดกว่าภาษาไทย

            ในขณะที่ตามร้านอาหาร เจ้าของร้านจะเป็นฝรั่ง เด็กเสิร์ฟจะเป็นแรงงานพม่าอยู่หลายร้านทีเดียว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชัดเจน ไร้การควบคุมดูแล เสรีกว่าการเปิดอาเซียนเสียอีก

            ส่วนโซนอันดามัน โรงแรมระดับ 4-5 ดาว มีพนักงานเป็นชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะพนักงานต้อนรับกับพนักงานเสิร์ฟตามโรงแรมส่วนใหญ่ อิมพอร์ตเข้ามาจากฟิลิปปินส์ ด้วยเหตุผลว่า ภาษาอังกฤษดีกว่าคนไทย 

เป็นการเปลี่ยนแปลงใน 2 ความแตกต่างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เมื่อเข้าสู่อาเซียน เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่านี้

            เมื่อมองสภาพของเยาวชนไทย ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจการเรียน ไอคิวต่ำ ท้องก่อนกำหนดติดอัน 2 ของโลกแล้ว ยังนึกภาพไม่ออกว่า เยาวชนไทย จะเข้าสู่กระบวนการแข่งขันเหล่านี้ได้อย่างไร

            ในขณะที่รัฐบาลส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการศึกษาไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งได้ภาพและค่าคอมมิชชั่น

          รีบมาดูเรื่องนี้กันเร็วๆ เถอะครับ !!!

ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2557