มวลมหาประชาชน!
โดย : วสันต์ ทองสุข
นึกถึงในอดีต ณ วันนั้น ผมยังนุ่งกางเกงขาสั้น ชุดนักเรียน ม.ปลาย เข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ด้วยจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ไม่ได้รู้อะไรมากมายไปกว่าสำนึกเล็กๆของเด็กน้อย ที่ได้เห็นพลังจากนักศึกษา ที่เป็นแกนนำอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เสาวณีย์ ลิมมานนท์ รวมทั้งประชาชนเรือนแสนเรือนล้านที่เดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และต่อต้านรัฐบาลทหารยุค จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ณ ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
นับเป็นชัยชนะของประชาชนครั้งแรก ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของหน่ออ่อนความคิดทางสังคม ทางการเมือง ที่เจริญเติบโตติดตัวเรื่อยมาจนเติบใหญ่ในทุกวันนี้ ด้วยความคิดที่ฝังรากลึกมาตลอดว่า ” ส่วนรวมต้องมาก่อนส่วนตัว”
ตลอดเส้นทางเดินชีวิตของผมบนถนนสังคม การเมือง ผ่านพบทั้งการล้อมปราบนักศึกษาอย่างโหดร้ายทารุณ ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ได้รับบาดเจ็บ ติดคุกติดตะราง จนต้องระหกระเหินหลีกลี้หนีภัยมืดทางการเมือง และตัดสินใจเดินทางไกลสู่ชนบท ร่วมกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับ อาวุธลุกขึ้นสู้ในเขตอำนาจรัฐสีแดง ฐานที่มั่นภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก
4 ปี 4 เดือน 23 วัน ที่ผมดำรงตนในเขตป่าเขาในชุดนักรบดาวแดง จนเดินทางกลับจากป่า สู่นาคร ในเดือนพฤษภาคม 2524 พร้อมบาดแผลทางจิตใจของคนหนุ่มที่เคยร่วมประกาศว่า “ จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย”
ความเป็นไปทางสังคมการเมืองหมดยุคทหารสลับเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้ง ที่เรียกกันว่า ระบอบประชาธิปไตย สลับการรัฐประหารเป็นครั้งคราว นักการเมืองเปลี่ยนหน้าสลับกันปกครองประเทศ คนแล้วคนเล่า จนถึงวันนี้ ปลายปี 2556
ปรากฎการณ์มวลมหาประชาชน ที่เริ่มต้นรวมตัวกัน ณ สถานีรถไฟสามเสน ลุกขึ้นต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับสุดซอย จนลามไปถึงการต่อต้านรัฐบาล ที่ปฏิเสธคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จนสุดท้าย...เป็นคำประกาศว่า ต้องโค่นระบอบทักษิณ
ณ เวทีราชดำเนิน และเวทีนางเลิ้ง ขบวนการขับเคลื่อนของประชาชน ไม่ได้หยุดแค่ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
แต่ธงของกลุ่มผู้ชุมนุม ประกาศก้องว่า ต้องการปฏิรูปประเทศไทย ก่อน ค่อยจัดการเลือกตั้งในภายหลัง
หลายคนตั้งคำถาม และตัวผมเอง ก็ตั้งคำถามในใจเช่นกัน ว่า... แล้วเหตุการณ์จะยุติลงอย่างไร รวมทั้งสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้า ไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาอีกในประเทศไทย
ผมย้อนนึกถึงพลังของมวลมหาประชาชน เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และความโหดร้ายทารุณจากอำนาจรัฐอธรรมที่กระทำต่อนักศึกษาเมื่อคราว 6 ตุลาฯ 2519
อย่างไรก็ตามขณะที่ผมเขียนบทความนี้ (วันนี้ 12 ธันวาคม 2556) ยังไม่เห็นท่าทีว่าใครจะชนะในการศึกครั้งนี้
แต่ยังหวังว่า ในใจเสมอว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดย “ สันติวิธี” จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2557 ให้กับประชาชนทั่วทั้งประเทศ
ผมยังมีความเชื่อใจส่วนลึกของหัวใจ ว่า ....พลังประชาชนเท่านั้น ที่เปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้
เพราะผมไม่เคยเชื่อน้ำหน้านักการเมืองเลย !
หมายเหตุ : ติพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนมกราคม 2557