ซุปเปอร์ชีป :ห้างโลว์คอสต์ ขวัญใจมหาชน
โดย จรูญ ชูจันทร์
++++
ข่าวคราวไฟไหม้ห้างซุปเปอร์ชีปภูเก็ต เป็นข่าวใหญ่นำเสนอแทบทุกสื่อสารมวลชนตลอดช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา
นอกจากประเด็นข่าวเหตุการณ์แล้ว หลายสื่อโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์มีประเด็น ที่คล้ายกันคือ ให้กำลังใจผู้บริหารของห้างฯสัญชาติไทยแห่งนี้ให้ลุกขึ้นมาสู้ใหม่
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับที่กลุ่มทุนได้รับแรงสนับสนุน และความเห็นอกเห็นใจจากประชาชนกันมากขนาดนี้
ผมจำได้ว่าสมัยที่ต้องยังเป็นนักข่าวเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามในฐานะนักข่าวภูมิภาค คือการปรับตัวของห้างฯท้องถิ่น เพื่อรับมือกับการเข้ามาของทุนใหญ่ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกอย่างแมคโคร บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ว่า จะมีวิธีต่อสู้เพื่อการอยู่รอดทางธุรกิจอย่างไร
เรากำลังพูดถึงกลยุทธ์ต่างๆของห้างไดอาน่า(หาดใหญ่) ห้างสหไทย(นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี) ห้างสิริบรรณ(ตรัง) ห้างโอเชี่ยน(หาดใหญ่-ภูเก็ต) กับการปรับตัวต่างๆ นานาเพื่อสู้กับยักษ์ใหญ่ในกระแสเปิดเสรีทางการค้า
ท่ามกลางการดิ้นรนอย่างหนักของห้างท้องถิ่นในยุคนั้น พบว่า เมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างภูเก็ตที่มีค่าครองชีพสูงลิ่ว กลับมีห้างท้องถิ่นสัญชาติไทยเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้ชื่อ “ซุปเปอร์ชีป”
ซุปเปอร์ชีป เป็นห้างต้นทุนต่ำตั้งแต่เกิด นั่นคือตัวอาคารสร้างด้วยโครงไม้ หลังคามุงด้วยสังกะสี ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่หรูหรา ไม่ทันสมัย แต่สินค้ามีทุกประเภทเรียกได้ว่า “มาที่เดียวจบ ได้ของครบ พบของถูก ตัวจริง เสียงจริง”
ซุปเปอร์ชีป อาจจะไม่ใช่ห้างในนิยามของฝรั่ง แต่เป็นห้าง “สรรพสินค้า” เพราะมีสินค้าครอบจักรวาลจำหน่ายอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยารักษาโรค คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง ปุ๋ย หอยขม ปลาไหล ปลากัด ฯลฯ
หากนึกไม่ออกให้คิดว่าเป็นการเอาห้างสรรพสินค้ากับตลาดนัดมาไว้ที่เดียวกัน
ซุปเปอร์ชิป มีหน่วยรถไปรับซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตเกือบทั่วประเทศ ทราบว่าช่วงหนึ่งเคยเลี้ยงหมู และปลูกผักไว้ขายเอง
ทำให้ราคาสินค้าถูกจนเหลือเชื่อ เชื่อมั้ยครับว่า สินค้าหลายรายการถูกกว่าตลาดนัด
ผมเคยซื้อยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ถูกกว่าร้านขายยาทั่วไปเท่าตัว
ไม่มีใครดูถูกสภาพที่ดูไม่โก้หรู แต่อดจะอมยิ้มไม่ได้กับความแปลกในกลยุทธ์ทางการตลาดที่นำสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างตรงใจ
สินค้าของซุปเปอร์ชีป ไม่ได้เป็นสินค้าเกรดต่ำเพียงอย่างเดียว เพราะซุปเปอร์ชีป เป็นผู้ป้อนสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ พืชผัก ผลไม้ให้กับโรงแรมและร้านอาหารเกือบทั่วเกาะภูเก็ต ความน่าสนใจของซุปเปอร์ชีป ไม่ใช่แค่สถานที่จำหน่ายสินค้าราคาถูกเท่านั้น แต่ที่น่าภูมิใจอีกประการหนึ่งของห้างสัญชาติไทยแห่งนี้ คือมีการจ้างงานกว่า 3,000 ตำแหน่ง เทียบกับนายจ้างประเภทผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวประเภทโรงแรม รีสอร์ทในภูเก็ตแล้ว ซุปเปอร์ชีป มีการจ้างงานสูงกว่ามากนัก
ที่สำคัญคือ กำไรทุกบาททุกสตางค์ไม่ไปไหน ตกอยู่ในเมืองไทยร้อยเปอร์เซ็นต์
เพราะนี่ คือธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกของคนไทย สัญชาติไทยแท้ ที่คนท้องถิ่นภูมิใจและเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในยุคที่ โมเดิร์นเทรดครองเมือง
ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 2 ปี ก่อนครั้งเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศ รัฐฯได้ทุ่มเงินจำนวนมหาศาลให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของต่างชาติ
ถ้ารัฐฯจะให้ความช่วยเหลือด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ห้างโลว์คอสต์ ขวัญใจมหาชนแห่งนี้กลับมาได้อีกครั้ง จะมีความหมายต่อพลังการต่อสู้ของธุรกิจสัญชาติไทยอีกมากมายนัก
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 56