ต้องทำลายระบบบล็อกโหวต
โดย จันทร์เสี้ยว บางนรา
ฉบับที่แล้วได้เขียนเรื่อง “บทบาทจุฬาราชมนตรี กับการสวมหมวกสองใบ”
ในฐานะหนึ่งของจุฬาราชมนตรี คือผู้นำสูงสุดของมุสลิมไทย แต่อีกในฐานะหนึ่ง จุฬาราชมนตรี ก็นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยตำแหน่ง
หมวกสองใบนี้ทำงานต่างกัน เพราะตำแหน่งประธานคณะกรรมการอิสลามฯมีบทบาทในเชิงบริหารองค์กรซึ่งตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ว่าสุ่มเสี่ยงกับการเปื้อนมลทิน หากมีการกล่าวหาองค์กรฯ ส่งผลให้จุฬาราชมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางฯ ต้องรับผิดชอบด้วย
ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฉบับ2540 ที่ต้องแยกตำแหน่งจุฬาราชมนตรีออกจากกันให้ชัดเจน
ขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทจุฬาราชมนตรี ให้เหมาะสมกับการทำหน้าที่ “ผู้นำมุสลิมไทย”
แต่ยังมีอีกประเด็นที่อยากนำเสนอให้มีการพิจารณา คือที่มาของ ”คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด”
ในอดีต คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จะมาจากการสรรหา หรือ จะเรียกว่าเลือกตั้ง บุคคลที่มาจาก “อิหม่าม” ทำให้ในอดีต คณะกรรมการประจำจังหวัดและกรรมการกลางอิสลาม ที่เป็นตัวแทนจากจังหวัด จึงเปรียบเสมือนการ”บล็อคโหวต”
ทุกครั้งที่เลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในอดีตก็ล้วนแต่เป็นหน้าเดิม
ขณะเดียวกัน เป็นตัวแทน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ที่มาเป็นคณะกรรมการกลางฯ ก็เป็นคนหน้าเดิมเช่นกัน
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า องค์ศาสนา อย่างคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ไม่สามารถพัฒนาและเป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างจริงจัง
เพราะทุกคนที่เข้ามานั่งในตำแหน่งต่างๆแม้ว่าจะมีตัวแทนจากภาคส่วนอื่นเข้ามาร่วมด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถชี้นำสังคมได้ นอกจากการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ผมใคร่เสนอที่มาของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใหม่ เพื่อทำลายระบบบล็อกโหวต ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นอันตรายต่อระบบและอันตรายต่อองค์กร ไม่ว่าระบบไหนหรือองค์กรไหนก็ตาม
ที่มาของคณะกรรมการประจำจังหวัดจากนี้ไป ต้องพิจารณากันใหม่ โดยผู้ที่เสนอตัวจะมาเป็นคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด ต้องลาออกจากตำแหน่งอิหม่าม นอกจากนี้ต้องเปิดโอกาสให้ตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มาจากหลากหลายวิชาชีพ และหลายหลายองค์กร
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความหลากหลายในวิชาชีพ และ นำบุคลากรที่มีอยู่ในสังคมมาใช้ประโยชน์ให้เกิดสูงสุดกับองค์กรและสังคม
หากเราไม่สามารถทำลายระบบบล็อคโหวต ได้ จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวแทนที่มาทำงานและสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบได้
ส่วนที่มาของความหลากหลายจะมาจากกลุ่มวิชาชีพใดบ้าง หรือ สัดส่วนเท่าไหร่ ผู้เขียนคิดว่า คนที่เกี่ยวข้องคงมีความสามารถที่จะคิดต่อได้
แต่อยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจในวันนี้ จะกล้าเปลี่ยนตัวเองหรือไม่เท่านั้นเอง ครับ