ไทยแลนด์สลาตันในบริบทอุษาคเนย์: ปอเนาะในพระบรมราชูปถัมป์
โดย: ปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช
ประธานคณะกรรมการฝ่ายเศรษฐกิจ
สภาที่ปรึกษาบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
แนวคิดดีๆ ที่ผ่านโทรทัศน์ยามเช้าตรู่ในห้วงเดือนรอมฏอนอันประเสริฐ ของเพื่อนมุสลิมทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้ว ในห้วงเวลาเดียวกันนี้ที่มีการจัดงาน Gala Dinner ณ ห้อง Royal Jubilee Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในโอกาสครบ 72 ปี ของโรงเรียนประทีปศาสน์ปอเนาะบ้านตาล จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555
ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระมหากรุณาธิคุณและเสด็จเป็นองค์ประธานในงานการแสดงปาฐกถา “ เส้นทางมุสลิมไทย สู่ประชาคมอาเซียน” เพื่อความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาที่เพิ่มบทบาทการสอนสายสามัญที่เข้มแข็งขึ้นควบคู่กับการสอนศาสนา ที่เป็นวิถีหลักของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาไปสู่การเสริมสร้างความมั่นคงทางคุณธรรม ศีลธรรม การมีวิชาชีพในอนาคตการเป็นผู้นำแถวหน้า (front centre) ในประชาคมอาเซียนและความสันติสุขของการอยู่ร่วมกันในพหุสังคม
คำบรรยายปาฐกถาพิเศษของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำความให้พสกนิกร ทราบว่า ตั้งแต่ปี 2514 ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จราชดำเนินไปพบสถานศึกษารวมทั้งโรงเรียนปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ทำให้พระองค์มีความสนใจสถานศึกษาที่มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้ปกครองมารวมกัน
โดยเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสนพระทัย เป็นพิเศษต่อชาวมุสลิม และศาสนาอิสลาม
ทุกปีจะเสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เพื่อเยี่ยมเยียนชาวไทยมุสลิมภาคใต้ ทรงคิดค้นโครงการ หมู่บ้าน ปศุสัตว์ เกษตร พัฒนาดิน น้ำ เพื่อช่วยราษฎรให้มีที่ทำกิน ส่งครูมาช่วยฝึกอบรมวิชาชีพ และทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดพิมพ์พระคัมภีร์ อัลกุรอาน พระราชทานแก่ชาวมุสลิม สำหรับใช้ศึกษาค้นคว้า เสด็จมาร่วมกิจกรรมในงานสำคัญทางศาสนาอิสลาม พระราชทานที่ดินและพระราชทรัพย์ เพื่อสร้างมัสยิดและพระบรมวงศานุวงศ์เป็นองค์ผู้อุปถัมป์เสมอมา
ที่สำคัญเสียมิได้ คือ พระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ที่รับโรงเรียนปอเนาะ จำนวน 19 โรง ได้แก่ 14 โรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 โรงในจังหวัดปทุมธานี และ 1 โรงในกรุงเทพมหานคร มาไว้ในพระบรมราชูปถัมป์
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ประธานอำนวยการจัดงานในครั้งนั้น และผู้เขียนหนังสือ “ ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น” ชีวิตจากปอเนาะไปอาเซียน ได้เน้นให้ถึงการจัดงานปอเนาะบ้านตาล ไม่ใช่เป็นการเฉลิมฉลองการครบ 72 ปีในกรุงเทพ แต่เป็นการสื่อไปยังเพื่อนในภูมิภาคอาเซียนตระหนักและรับรู้สิ่งที่ต้องเตรียมตัวรับการปรับตัวสู่ประชาคมอาเซียน ที่มีประชากรประมาณ 300 ล้านคน
ประชากรอาเซียนที่เป็นมุสลิมสื่อสารกันด้วยภาษามลายู และต้องมายืนบนแถวหน้าในภูมิภาค ด้วยเชิญชวนให้สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมอิสลามศึกษา ควบคู่วิชาสามัญ ให้ขับเคลื่อนโดยไม่ทิ้งรากฐานของสังคม การปรับตัว รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ สรรค์สร้างวิชาการ ควบคู่คุณธรรม
ปอเนาะบ้านตาล สอนสายสามัญและวิชาชีพ การบัญชี ไฟฟ้ากำลังและคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คู่กับการสอนอิสลามศึกษา พร้อมๆกับการสื่อสารให้เห็นแบบอย่างของ ดร.สุรินทร์ ที่พัฒนาตัวเองมาจากความมุ่งมั่นศึกษาไปในครรลองที่ถูกต้อง ซึ่งการได้รับโอกาสทั้งประสบการณ์และความสำเร็จ เกิดจากการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
เหมือนคำพูดที่ว่า ".. Luck will come to those who are ready .." เพราะถ้าคุณไม่พร้อมถึงแม้มีโชคจะผ่านมาก็ไม่อาจไขว่คว้าได้ และคำแนะนำที่ส่งต่อถึงเยาวชนที่อาจมีสภาพชีวิตที่ไม่ได้พรั่งพร้อม แต่ฝันถึงการมีชีวิตที่ดีขึ้น
คำแนะนำของท่านจึงเน้นที่การดิ้นร้นเรียนรู้ ไม่หยุดนิ่ง ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา อย่ายอมจำนนต่อข้อจำกัดใดๆ เมื่อนั้นโชคดีจะมาเคาะประตูบ้านของคนที่พร้อมตั้งรับอยู่เสมอ
ในงานครั้งนั้น Tun Dr. Mahadir Mohammad อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เสนอความคิด “ ความท้าทายของกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีต่อประชาคมอาเซียน 2015” ทำให้รับทราบว่า ก่อนสิ้นสุดวาระการเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียอีก 8 ปี นั้น ความพร้อมของมุสลิมบนเวทีอาเซียน ส่งเสริมการรวมตัวเพื่อสันติภาพ (Unity for Peace) เปลี่ยนภาพพจน์ของมุสลิมบนเวทีโลกด้วยการสร้างมิตรกับพี่น้องต่างศาสนิก ไม่แตกความสามัคคี เพื่อสร้างรากฐานสำคัญ
Dr. Mahadir บอกว่า ปัญหาของสังคมไทย สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในการแสดงความเห็นกันมาก แต่ใช้ความรู้กันน้อย จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมได้ง่าย หากได้ฟังข่าวทางสื่ออันอาจทำให้เชื่อไปได้ว่ามีการนิยมใช้ความรุนแรงบ่อยครั้งในที่ต่างๆ ทั่วโลก
ขณะที่ ภายในประเทศเอง หน่วยงานทางความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เสนอหลักฐานในการเชื่อได้ว่า มีผู้บริหารสถานศึกษาบางท่าน ยอมให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้เป็นปลุกระดมบ่มเพาะและเก็บซ่อนอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อเหตุรุนแรง ความเชื่อถือของพ่อแม่ผู้ปกครอง ในการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนนั้นๆ ก็จะลดน้อยลง เพราะคงไม่มีพ่อแม่คนไหน อยากให้ลูกตนเองต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงแน่นอน อีกทั้งชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาที่สร้างสมมาอย่างยาวนานก็จะพลอยหม่นหมองไปด้วย
ดังนั้นเมื่อเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ให้สถาบันปอเนาะอยู่ในพระบรมราชูปถัมป์ ที่ต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน สร้างการยอมรับในระดับประเทศ-นานาชาติเหมือนที่ปอเนาะบ้านตาล เป็นธงนำหนึ่งในหลายสถาบันที่ดีและร่วมกันสร้างให้เป็นสถาบันในการผลิตผู้นำแถวหน้าที่นานาชาติยอมรับ
เหมือน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จใดๆ ได้ในชีวิตด้วยความสุขของตนเองและสันติสุขของสังคม
: ขอบคุณภาพ และสื่อบน Youtube ของ JarungratWangruaynam
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับ สิงหาคม2556