รายงานพิเศษ: “มุรซี"กับตำแหน่งผู้นำ1 ปี 4 วัน บนถนนการเมืองอียิปต์
โดย ดลหมาน ผ่องมะหึง รายงานจากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์
" ...ไฟฟ้าดับ น้ำหยุดไหล ข้าวของแพง เศรษฐกิจย่ำแย่ โจรชุม ความปลอดภัยไม่มี เพราะใคร ถ้าไม่ใช่เพราะบังซี หรือ “มุร ซี ซาบับ” ... คำพูดนี้เป็นคำพูดยอดฮิตทั่วประเทศอียิปต์ ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ที่ไม่ดีต่างๆ เกิดขึ้นในอียิปต์เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม
นับตั้งแต่เริ่มขึ้นครองอำนาจของ " มูฮัมมัด มุรซี " เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 จนถึง 3 กรกฎาคม 2556 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการนำเสนอข่าวการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง
ด้วยบุคลิกของ มุรซี ที่มาจากมุสลิมบราเธอร์ฮูด หรือ อัลอิควาน มุสลีมีน ที่ไม่เน้นเรื่องการวางมาด การวางท่า หรือลีลาเมื่อออกสู่สายตาชนอย่างผู้นำชาติอื่นทั่วไป และบางครั้งอาจจะดูนุ่มนวล สุภาพเกินกว่ากับบทบาทการเป็นประธานาธิบดี
หากจะย้อนเหตุการณ์การเริ่มชุมนุมประท้วง เริ่มขึ้นหลังจากที่เหตุการณ์ในอียิปต์เริ่มจะแย่ลง ทั้งด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและความปลอดภัย ทำให้ชาวรากหญ้าธรรมดาได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มขึ้น ซึ่งอาจจะมีผู้อยู่เบื้องหลังเป็นผู้สนับสนุนในการรวมตัวของกลุ่มนี้ ภายใต้ชื่อว่า “ ตามัรรุด ” ซึ่งแปลว่า “ การลุกขึ้นสู้ ”
โดยกลุ่มนี้ได้ล่ารายชื่อเพื่อนำไปสู่การรวมตัว และทำการเรียกร้องให้ผู้นำออกจากตำแหน่งในวันครบรอบหนึ่งปี ของการขึ้นครองอำนาจ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา
และก็เป็นจริงเกินคาด เมื่อมีการอุ่นเครื่องรวมพลคนไม่เอา มุรซี เกิดขึ้นเกินกว่าที่พวกเขาคิดเอาไว้เสียด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกันกลุ่มสนับสนุน "มุรซี" ก็มีจำนวนไม่น้อย โดยนับตั้งแต่ วันที่ 28 มิถุนายน เมื่อทั้งสองฝ่ายเริ่มชุมนุมขึ้นทั่วประเทศอียิปต์ เช่น จุดวงเวียนใหญ่ ตะรีรสแควร์ กระทรวงกลาโหม ร๊อบอะฮ์ อัลอาดาวียะห์ อิตตีฮาดียะห์ (ทำเนียบบังซี) เฮลิโอโปลิศ อัลมาฮัลละห์ (จังหวัดฆ๊อรบียะห์) สุเอซ ปอร์ทสะอิด เป็นการอุ่นเครื่องที่ยิ่งใหญ่ กลายเป็นที่จับตาของทั่วโลกในทันที
ขณะที่ สถานทูตเอกอัครราชทูตไทย กรุงไคโร และสมาคมนักเรียนไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประสานงานกันอย่างเข้มงวด เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดเหตุบานปลายและอันตรายขึ้น ที่มีผลกระทบจากการชุมนุมในครั้งนี้ จึงได้มีการจัดจุดนัดรวมพลและดูแลกันหลายจุดในทุกสถานที่ ที่มีนักศึกษาและคนไทยพำนักอยู่
ในที่สุดสถานการณ์ในกรุงไคโรก็ขยายวงกว้าง และเป็นที่สนใจของคนทุกมุมโลก เมื่อมีการรวมตัวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการเผาที่ทำการ ถนนหนทาง และมีข่าวการเสียชีวิต ยิ่งทำให้ทุกคนเริ่มวิตกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ในอินเตอร์เน็ต นั่นคือภาพของข่าว
หากแต่ในความเป็นจริงของชีวิตประจำวันในประเทศอียิปต์แล้ว ยังคงปกติ กลางวันทุกคนยังคงเดินทางไปทำงาน ในทุกสายอาชีพแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อได้เวลาหลังเลิกงาน ทุกคนก็จะกลับไปรวมตัวกันตามจุดต่างๆ แต่ไมได้โหดร้าย ร้ายแรงอย่างที่เห็น
ภาพที่เราเห็นจริงๆในกรุงไคโรและอีกหลายแห่งในอียิปต์ คือการไปพบปะสังสรรค์ นั่งรวมกลุ่มกันดื่มชา กาแฟ กอดกันเมื่อได้พบกัน เหมือนไม่ได้เจอกันมาเป็นแรมปี ร้านค้า แผงลอย ก็ยังเปิดให้บริการอย่างเต็มที่ ไม่เหมือนภาพการชุมนุมโหดร้ายเลยสักนิด
แต่ทุกคนที่ไม่ใช่ชาวอียิปต์ต่างก็ระวังตัวกันอย่างดี โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีมากที่สุดในกรุงไคโร หรือประมาณ 2,000 คน ไม่เฉพาะนักศึกษาศึกษาอยู่ใน มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร เท่านั้น แต่ก็ยังมีคนไทยอีกหลายคนที่มีหัวหน้างาน หรือสนิทสนมกับชาวอาหรับ พาออกมาเดินถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกอย่างสนุกสนาน โดยไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
หนึ่งในนั้นคือ คุณอามีนา สาวมั่นคนหนึ่งบอกกับนิตยสาร ดิ อะลามี่ ว่า “เขาไม่ได้กลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” เพราะพี่รู้ดีว่าเหตุการณ์จริงๆ มันเป็นอย่างไร และเรามีเจตนาอะไรที่ทำ
" พวกเขาไม่ได้รุนแรงเกินความเป็นจริงที่หลายคนเข้าใจเลย พวกเขาแค่เรียกร้องความเป็นธรรม ในสิ่งที่พวกเขาควรได้รับ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่น " คุณอามีนา กล่าวและว่า ที่จริงแล้วพวกเขาตื่นขึ้นจากความมืดต่างหาก "... It's need a Freedom and Alll is One ...”
ในที่สุด วันที่ 30 มิถุนายน 2556 วันนี้เป็นวันนัดพลจริงๆ ดูเหมือนมีการรวมตัวที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง โดยมีการนัดพบของคนสองกลุ่มอย่างชัดเจน โดย กลุ่มคนไม่เอามุรซี รวมตัวกันที่ตะรีรสแควร์ ใจกลางกรุงไคโร และหน้าทำเนียบประธานาธิบดี ที่รุกซี่ ส่วนกลุ่มสนับสนุนจะปักหลักอยู่ที่ เขตร๊อบอะฮ์ นัศร์ซิตี้
ทั้งสองกลุ่มใช้ความอดทนกดดัน เพื่อความหวังของตัวเองอย่างไม่ย่อท้อ ต่างฝ่ายต่างชูธงชาติอียิปต์ โห่ร้อง ขณะที่ทุกสื่อทั่วโลกต่างจับตาว่าจะเกิดอะไรขึ้น "มุรซี" จะออกมาแถลงการณ์หรือทำอะไรหรือไม่ หรือแม้แต่ทหารก็ตาม ...แต่ท้ายสุดทุกอย่างกลับไม่เป็นดังคาดเหมือนไร้คำตอบของทั้งสองฝ่าย
เมื่อเวลาได้ล่วงเลยโดยไม่มีคำตอบ ท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 กลุ่มไม่เอามุรซี ยื่นไม้ตายให้ มุรซี ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ..แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะไม่เป็นผลแต่อย่างใด และทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน
ขณะที่กองทัพ และทหาร อ่านเกมนี้ออกโดยได้ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่า " อีก 48 ชั่วโมง หากทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ กองกำลังทหาร จะจัดการเองแบบฉบับของทหาร ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองมองว่า นั่นคือการปฏิวัติ นั่นเอง ทำให้ผู้สนับสนุน มุรซี ในต่างจังหวัด ต่างลุกฮือกันขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ดอีกครั้ง เพราะไม่ต้องการให้ทหารเข้ามาวุ่นวายในเรื่องอำนาจ
ในที่สุด มุรซี ดูเหมือนจะทำตัวเงียบต่อไปไม่ไหว เมื่อโดนลูบคม กระนั้น "มุรซี" จึงได้ตอบโต้โดยระบุว่า " เขาเข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างชอบธรรม และยืนกรานจะไม่ออกจากตำแหน่งโดยเด็ดขาด ดังนั้นขอให้ทางกองทัพถอนคำแถลงการณ์ และจะไม่ยอมให้ฝ่ายใดเข้ามาแทรกแซงอย่างเด็ดขาด "
ทันใดนั้นทำให้กระแสการเมืองในอียิปต์ เพิ่มอุณหภูมิในบัดดล ทั้งในสื่อกระแสออนไลน์และโซเซียลมีเดีย สาดอารมณ์ใส่กันอย่างเต็มที่
แม้ว่า มุรซี จะออกแถลงการณ์ ย้ำถึงความชอบธรรมและความถูกต้องของตัวเอง แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะล่าช้าไป
ท้ายที่สุดคำตอบที่ชัดเจนก็ยังไม่มี ทั้งสองฝ่ายยังคงปักหลักไม่ยอมถอย มีการปะทะกันบ้างในบางจุด จนวินาทีสุดท้ายของวันที่ 3 ก.ค. 56 โฆษกทหาร ออกมาแถลงการณ์ว่า ขณะนี้กองกำลังทหารกำลังประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำศาสนาโดยมี แกรนเช็คอัลอัซฮัร บาบาตูวาดุรุส และ อิลบาราดัย นักการเมือง และตัวแทนกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญหลักๆ ของประเทศ เมื่อไม่มีคำตอบให้กับประชาชน กองกำลังทหาร จึงต้องจัดประชุมตัดสินเพื่อหาคำตอบ
เพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้นเมื่อสิ้นเสียงโฆษกทหารแถลงการณ์นับเป็นการปิดฉากชีวิตการเมือง “มุรซี ซาบับ" เสียงจุดประทัด จุดพลุ ดังทั่วประเทศอียิปต์ ขึ้นมาอีกครั้ง นับเป็นการปิดฉากการเป็นผู้นำของ"มอร์ซี " อย่างง่ายดาย
วันที่ 3 กรกฏาคม 2556 นับเป็นการปิดฉาก "มุร์ซี " อย่างเป็นทางการพร้อมๆ กับการเริ่มต้นใหม่ โดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาทบทวนกฎหมาย และได้แต่งตั้งให้หัวหน้าศาลรัฐธรรมนูญบริหารราชการแผ่นดินชั่วคราว เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งต่อไป
แต่กระนั้นสถานการณ์ในอียิปต์ ยังมิได้ปิดเกม ยังคงมีการเคลื่อนไหวและประท้วงอย่างต่อเนื่อง อนาคตอียิปต์จะเป็นอย่างไร ต้องจับตากันต่อไป