"(หยุดยิง) มันจบแล้ว" เสียงจากแนวร่วมก่อความไม่สงบใต้!
สำนักข่าวอะลามี่ : ถามไถ่กันวุ่นวายว่าคำแถลงร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ว่า จะช่วยกันลดเหตุรุนแรงตลอดรอมฎอนนั้น นับถึงวันนี้...ผ่าน 13 ของเดือนรอมฎอนแล้ว ข้อตกลงถือว่าล้มเลิกไปแล้วหรือไม่
เพราะเพียงแค่ 10 วันแรกของรอมฎอนที่มีเหตุลอบยิงคาใจ 2 เหตุการณ์ (อุสตาซที่บันนังกูแว อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิต และผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดีได้รับบาดเจ็บ) บวกกับเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหาร และต่อมามีปฏิบัติการไล่ล่าแล้ววิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นับจากนั้นก็เกิดเหตุสังหารชาวบ้านอย่างโหดเหี้ยมสลับไทยพุทธกับมุสลิมแทบจะรายวัน
เรียกว่าสถานการณ์รุนแรงเป็นปกติเหมือนช่วงเดือนอื่นๆ ที่ไม่ใช่รอมฎอน ยังขาดแต่เหตุระเบิดรายวันเท่านั้นที่ยังน้อยอยู่...นั่นเป็นสถานการณ์จริงในพื้นที่
ขณะที่สถานการณ์บนโต๊ะพูดคุยเจรจาก็มีการส่งหนังสือประท้วงกล่าวหากันไปมาวุ่นวายไม่แพ้กัน เพราะสาระสำคัญที่ชี้แจงไม่ค่อยตรงกับลายลักษณ์อักษรในแถลงการณ์ร่วมที่แถลงโดย ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.เท่าใดนัก
เพราะดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหารจะเข้าใจว่า ยังสามารถปิดล้อมตรวจค้นได้ตามปกติหากมีเหตุการณ์รุนแรงเฉพาะหน้า หรือมีข่าวสารเกี่ยวกับผู้ที่โดนออกหมายจับว่าหลบซ่อนตัวอยู่ที่ไหน ทว่าในเอกสารคำแถลงเขียนไว้ค่อนข้างชัดว่า ฝ่ายความมั่นคงไทยต้อง “งดเว้น” ปฏิบัติการเชิงรุกทุกกรณี ทำได้เพียงการรักษาความปลอดภัยจากอาชญากรรมเท่านั้น
ความไม่ชัดเจนดังกล่าวนี้ยังไม่ชัดว่าเป็นความหละหลวมละเลยของคณะพูดคุยสันติภาพในการสื่อสารกับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่หรือไม่
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรฝ่ายไทยโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ ก็ยังส่งสัญญาณชัดว่าทุกเรื่องยังปรับจูนทำความเข้าใจกันได้ และข้อตกลงหยุดยิงช่วงเดือนรอมฎอนยังคงดำเนินต่อไป
ทว่าในซีกของบีอาร์เอ็นยังไม่มีท่าทีชัดเจนใดๆ นอกจากข่าวที่อ้างถึงอย่างกว้างๆ และอ้างกันต่อๆ มาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เสียงจาก “แนวร่วมระดับปฏิบัติการ” ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จึงน่าสนใจไม่น้อย โดยข้อมูลจาก"ศูนย์ข่าวอิศรา" ระบุว่าพวกเขามองสถานการณ์ในห้วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาสิบกว่าวันอย่างไร และอนาคตของข้อตกลงจะเดินหน้าต่อไปอย่างตลอดรอดฝั่งได้หรือไม่ ที่สำคัญคือความเชื่อมโยงกันระหว่างโต๊ะพูดคุยสันติภาพที่มาเลเซีย กับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่อยู่ในลักษณะใด...
โดยแนวร่วมที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส เล่าว่า ช่วงก่อนเดือนรอมฎอนได้มีแกนนำกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบยุคปัจจุบัน (นักรบที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่) ได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์วงพูดคุยเจรจาระหว่างแกนนำกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ กับตัวแทนรัฐบาลไทย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อดูท่าทีของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และนั่นคือที่มาของ “ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว” ซึ่งมีผลในทางปฏิบัติในช่วงแรก
“การได้เข้าไปสังเกตการณ์ของแกนนำในพื้นที่ยุคปัจจุบัน ทำให้แกนนำได้กลับมาสั่งการสมาชิกให้ยุติการก่อความไม่สงบระยะสั้นๆ ก่อน โดยให้เวลา 2 สัปดาห์ ถ้ารัฐไทยจริงใจก็จะเพิ่มเวลาต่อไปอีก”
นั่นคือความเคลื่อนไหวในช่วงแรกก่อนจะถึงจุดเปลี่ยน
“ช่วงเริ่มต้นเดือนรอมฎอนเป็นต้นมา รัฐสามารถทำตามที่ตกลงได้แค่ 4 วัน (12-15 ก.ค.) หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำตามเงื่อนไข มีการนำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นและกดดันในหลายรูปแบบ ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มขบวนการทนไม่ไหวและคุมกันไม่อยู่ จึงมีการตอบโต้กลับไป จนกระทั่งเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรม (นายมะสุเพียน มามะ ผู้ต้องสงสัยคดีลอบวางระเบิดที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส) ทำให้ยิ่งรู้สึกว่าพื้นที่ไม่มีวันจะสงบแล้ว เพราะหน่วยงานรัฐบางหน่วยไม่มีความจริงใจ”
ส่วนกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มาเลเซีย แนวร่วมระดับปฏิบัติการรายนี้ บอกว่า ขบวนการในพื้นที่จำเป็นต้องให้ นายฮัสซัน ตอยิบ ขึ้นมาเป็นตุ๊กตา แม้นายฮัสซันจะไม่ได้มีบทบาทและอำนาจใดๆ ที่สามารถสั่งการกองกำลังในพื้นที่ได้ก็ตาม
“ แต่การพูดคุยทุกครั้ง มีคนของเราเข้าไปร่วมสังเกตุการณ์ และจะคอยสังเกตความเคลื่อนไหวต่างๆ จากนั้นก็นำกลับมาหารือกับคนในพื้นที่ ซึ่งช่วงแรกของเดือนรอมฎอน บรรยากาศในพื้นที่ตลอด 4 วันแรกดีมากๆ เพราะเจ้าหน้าที่ทำตามเงื่อนไข ทำให้กลุ่มที่มีแนวคิดแตกต่างจากรัฐกล้ากลับบ้าน สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ สามารถไปร่วมละหมาดตะรอเวียะห์ที่มัสยิดได้เหมือนคนอื่น ที่สำคัญพวกเขาได้อยู่กับครอบครัว แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นบรรยากาศที่สงบสุขจริงๆ และไม่เคยมีมานานกว่า 9 ปีแล้ว ปีนี้พวกเขากลับบ้านได้ กลับมาบ้านแล้วก็จะกลับเข้าป่าขึ้นเขาหลังละหมาดตะรอเวียะห์ พอเย็นอีกวันหนึ่งก็จะกลับมาอีก”
“พวกเราทำแบบนี้ได้ 4 วัน แต่พอเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.ค. คือเหตุลอบยิง นายตอเหล็บ สะแปอิง ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และเช้าวันที่ 16 ก.ค. กับเหตุลอบยิงบาบอลี (นายมะยาหะลี อาลี อุสตาซบ้านบันนังกูแว อ.บันนังสตา จ.ยะลา) พวกเราถือว่าเหตุการณ์เริ่มจุดชนวนนับจากนั้น รัฐไม่ได้ต้องการให้ปัญหาจบ ไม่ต้องการให้พื้นที่สงบถึงมาทำพวกเราก่อน จึงทำให้พวกเราก็ไม่สามารถหยุดนิ่งได้เช่นกัน บรรยากาศที่มีมาตลอด 4 วันก็ไม่มีอีกแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างมันจบแล้วและกลับเข้าสู่สภาพเดิม เราพร้อมที่จะก่อเหตุต่อไป และอาจจะหนักขึ้นอีกหากรัฐยังละเมิดสิทธิ์ประชาชน”
นี่คืออารมณ์งและความรู้สึกของกลุ่มคนที่คิดเห็นแตกต่างจากรัฐ ซึ่งหน่วยงานรัฐควรเงี่ยหูฟัง เพราะการรับฟัง แก้ไขปัญหา และทำความเข้าใจในปมขัดแย้งให้ถูกต้องตรงกัน คือจุดเริ่มสำคัญของสันติภาพ...