รอมฎอนกับการเตรียมตัวผู้ถือศิลอด
สำนักข่าวอะลามี่ : นายแพทย์มานิตย์ ศิริกังวานกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสรีรักษ์ ให้ทัศนะและแนะนำผู้ถือสิลอดในช่วงเดือนรอมควรระวังสุขภาพและหากเพื่อให้การถือศิลอดอย่างมั่นใจควรตรวจสุขภาพก่อน " วรัญญา พุ่มเพ็ชร " สำนักข่าวอะลามี่ มีบทสัมภาษณ์
อะลามี่: อีกไม่กี่วันก็จะเข้าเดือนรอมฎอนแล้วอยากให้คุณหมอช่วยแนะนำเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้นของผู้ที่ต้องการถือศีลอด
นายแพทย์มานิตย์ : ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวมุสลิมทุกท่านที่เดือนรอมฎอนหมุนกับมาเยือนพวกเราอีกครั้งหนึ่ง ผมเองถึงไม่ได้เป็นชาวมุสลิมแต่ก็มีความรู้สึกชื่นชมและปลื้มใจใจทุกครั้งที่ได้เห็นชาวมุสลิมทุกท่านตั้งใจถือศีลอดกันเพื่อถวายแด่องค์อัลเลาะห์ อันเป็นที่เคารพสักการะของทุกคนรวมถึงตัวผมเองด้วย
โดยธรรมดาแล้วคนที่มีสุขภาพแข็งแรงทุกคนสามารถถือศีลอดได้ทุกคน ดังนั้นจึงใคร่แนะนำทุกท่านที่จะถือศีลอด กรุณาตรวจสอบตัวเองก่อนว่าท่านมีสุขภาพแข็งแรงดีหรือไม่ หรือมีภาวะบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายจากการถือศีลอดอยู่หรือเปล่า มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางอย่างที่อาจทำให้เราเกิดอันตรายได้ถ้ามิได้ป้องกันไว้ก่อน เช่น ท่านที่เป็นเบาหวาน,โรคหลอดเลือด หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้หมายความว่าถ้าท่านทราบล่วงหน้าก่อน และมีการป้องกันที่เหมาะสมท่านก็จะถือศีลอดได้ด้วยความปลอดภัย
“ มีอาชีพการงานบางอย่างที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมากถ้าเราไม่ได้รับประทานน้ำเลยเป็นเวลานานๆ เช่น ท่านที่ต้องทำงานหนักกลางแดด ที่ร้อนจัด เป็นเวลาทั้งวัน ท่านจะเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไปมาก ถ้าทนไม่ได้จริงๆ ท่านก็อาจจำเป็นต้นละศีลอด ในวันนั้นๆเสียเพื่อเตรียมตัวสำหรับวันต่อๆไป น่าจะเหมาะสมกว่า” นายแพทย์มานิตย์ ย้ำ
อะลามี่ : การถือศีลอดในมุมมองของแพทย์ให้โทษหรือประโยชน์อย่างไรต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบย่อยของร่างกายจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร
นายแพทย์มานิตย์ : เราต้องเข้าใจก่อนว่าข้อกำหนดทางศาสนาในทุกข้อนั้นมุ่งเน้น ที่จะพัฒนาพวกเราให้เจริญขึ้นทางด้านจิตใจ ถ้าคนเรามีจิตใจที่ดีที่เจริญ สังคมก็จะอยู่อย่างมีความสุข การถือศีลอด ก็น่าจะมีจุดมุ่งหมายที่จะฝึกให้พวกเรามีความอดทน อดกลั้น ต่อความหิว ซึ่งถ้าเราสามารถอดทนต่อความหิวซึ่งแรงกระตุ้นที่ยิ่งใหญ่ได้ เราก็น่าจะอดทนต่อแรงยั่วยุจากความโลภ หรือ ความเห็นแก่ตัวต่างๆได้เช่นกัน ดังนั้น ผมจึงมีความเชื่อว่า การถือศีลอดนั้นมีประโยชน์ต่อการพัฒนาจิตใจของพี่น้องชาวมุสลิมอย่างแน่นอน
สำหรับในแง่ร่างกาย เมื่อเราอดอาหารได้สักประมาณ 5-6 ชั่วโมง กระเพาะอาหารของเราก็จะเริ่มว่าง และน้ำตาลในเลือดของเราก็จะเริ่มลดระดับลงจากปกติเล็กน้อย ซึ่งร่างกายจะตอบสนองโดยการหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียด เช่น สเตียรอยด์(steroid) และ อะดีร์นาลีน(adrenalin)ออกมา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด
ขณะเดียวกันก็จะมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น กรดที่ออกมาในกระเพาะอาหารที่ว่างก็อาจทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร หรืออาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ในบางราย
ฟังดูแล้วก็น่ากลัวเหมือนกัน แต่อย่าเพิ่งตกใจมาก…!!!
มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่า เวลาที่คนเรามีความสุข ความอิ่มเอมใจอย่างสุดซึ้ง สมองของเราก็จะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขที่มีชื่อว่าเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ออกมาเช่นกัน เอ็นดอร์ฟินที่หลั่งออกมาจากสมอง จะเป็นตัวป้องกันไม่ให้เกิดการทำร้ายร่างกายจากฮอร์โมนแห่งความเครียด ดังกล่าวข้างต้น
จะเห็นได้ว่าถ้าท่านถือศีลอด ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ด้วยความศรัทธาที่มีต่อพระอัลเลาะห์อย่างมั่นคง ท่านจะมีความสุข ความอิ่มเอมใจ ในสมองของท่านจะมีเอ็นดอร์ฟินหลังออกมา ร่างกายของท่านก็จะปลอดภัย
ในทางตรงกันข้ามถ้าท่านถือศีลอดด้วยความเครียด นั่งดูเวลาแต่ว่าเมื่อไรพระอาทิตย์จะตกดิน นึกถึงแต่อาหารมื้อกลางคืนที่อยากรับประทาน ฮอร์โมนสเตียรอยด์ และอะดีร์นาลีนก็จะหลั่งออกมา กรดในกระเพาะอาหารของท่านก็จะมาก ท่านก็อาจมีอาการปวดท้อง หรือ มีแผลในกระเพาะอาหารก็ได้ รวมทั้งอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ใจสั่น เครียดกังวล เป็นต้น
อะลามี่: การรับประทานยา อย่างถูกต้องในรายของผู้ป่วยที่ต้องการถือศีลอด จะรับประทานยาอย่างไรในเมื่อต้องถือศีลอด มีข้อแนะนำอย่างไร
นายแพทย์มานิตย์ : เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะยาเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปร่างกายและอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายเราได้ โดยผมมีข้อแนะนำ ดังนี้
1. สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องกระเพาะอาหาร ตื่นนอนมาตอนเช้าท่านควรรับประทานยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น ยาจะออกฤทธิ์ได้ประมาณ 12 ชั่วโมง ก็จะทำให้กระเพาะอาหารของท่านไม่มีกรดมารบกวนมาก สำหรับตอนเย็น ก่อนรับประทานอาหารก็อาจจะรับประทานยาอีก 1 ครั้งก็ได้
2. ผู้ป่วยเบาหวาน ที่แพทย์สั่งยาฉีดหรือยารับประทานให้ก่อนหรือหลังอาหารเช้า, กลางวัน, เย็น เป็นต้น ท่านจะต้องปรับเปลี่ยนเวลาไปเป็นเวลาก่อนหรือหลังอาหารที่ท่านรับประทานจริงๆ ไม่เช่นนั้นท่านอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปจนอาจเกิดอันตรายได้
3. ท่านที่เป็นโรคหลอดเลือดตีบ แพทย์มักสั่งยาป้องกันการจับตัวกันของเกร็ดเลือด เช่น ยา แอสไพริน เป็นต้น ซึ่งก็ต้องรับประทานหลังอาหารที่ท่านรับประทานจริง เช่น อาจจะเปลี่ยนไปรับประทานยาหลังอาหารมื้อค่ำ เป็นต้น
4. สำหรับยาปฏิชีวนะ หรือยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมัน ก็อาจรับประทานได้ในเวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือ หลังพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งน่าจะเป็นเวลาใกล้เคียงกับฉลากยา
อะลามี่: การรับประทานอินผาลัมก่อนละศีลอด จะให้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหนต่อร่างกาย คุณหมอมีอะไรจะแนะนำบ้างคะ
นายแพทย์มานิตย์ : หลังละศีลอดในแต่ละวัน เราควรรับประทานอาหารแต่เพียงครั้งละน้อยเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว ไม่ควรรับประทานมากๆในครั้งแรกเลยที่เดียว เพราะอาจทำให้กระเพาะอาหารปรับตัวไม่ทัน
สำหรับอินทผาลัมนั้น เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์มาก เพราะมีน้ำตาลมาก หลังจากที่เราอดอาหารมานาน พอรับประทานน้ำตาลที่มีรสหวานร่างกายก็จะสดชื่น อินทผาลัม ยังอุดมไปด้วยเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
เช่น เหล็ก,สังกะสี,โปแตสเซียม,ฟอสฟอรัส,แมกนีเซียม เป็นต้น อินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีกาก(Fiber)มากจึงทำให้รักษาระบบขับถ่าย ช่วยลดอาการท้องผูกได้ดี นอกจากนั้นเคยมีงานวิจัยพบว่า อินทผาลัม ยังอาจมีฤทธิ์ป้องกันการถูกทำลายของเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ด้วย
“ ผมเชื่อในคำกล่าวของท่าน นบีมุฮัมมัด ที่ให้รับประทานอินทผาลัมในตอนเช้าก่อนถือศีลอด และถ้าจะให้ดี หลังละศีลอดก็ควรรับประทานอินทผาลัมร่วมกับผักผลไม้ต่างๆให้พออิ่ม ส่วนอาหารอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำพวกไขมัน อาจไม่ต้องรับประทานก็ได้”
ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และด้วยศรัทธาที่มั่นคงต่อองค์พระอัลเลาะห์ ประกอบกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะทำให้พี่น้องมุสลิมทุกท่านที่ถือศีลอดมีจิตใจที่ดีงาม มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีสังคมที่มีความสุขตลอดไป
อะลามี่: ในเดือนรอมฎอนนี้ทางโรงพยาบาลมีกิจกรรมอะไรบ้าง หรือ โปรแกรมอะไรเศษอย่างไรบ้าง
นายแพทย์มานิตย์ : สำหรับในเดือนรอมฎอนนี้ ทางโรงพยาบาลเสรีรักษ์ได้จัดโปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับท่านที่มีความต้องการตรวจเช็คสุขภาพเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อน และหลังการถือศีลอดด้วยโปรแกรมตรวจสุขภาพในราคา 2,800 บาท ตลอดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 54 – 30 ก.ย. 54 ซึ่งสามารถสอบถามจากเจ้าหน้าที่และติดต่อที่โรงพยาบาลได้