สันติภาพ – สันติภาพ !
โดย : วสันต์ ทองสุข
สำนักข่าวอลามี่ : นโยบายสานใจสู่สันติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งรัฐบาลได้นำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มาบูรณาการร่วมกัน และกำหนดเป็นนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งกรอบแนวคิดที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง, การเปิดพื้นที่ด้วยสันติวิธี, การสร้างสมดุลโครงสร้างอำนาจการปกครองและการบริหาร, การเคารพสิทธิมนุษยชน, ยึดมั่นในหลักนิติรัฐและนิติธรรม, สังคมไทยและทุกภาคส่วนร่วมรับรู้เข้าใจและแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งกลไกการดำเนินการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประสานสอดคล้องและส่งเสริมกันทุกมิติอย่างสมดุล ส่งผลให้เกิดทิศทางอันเป็นวิสัยทัศน์ของนโยบายฉบับนี้คือ
“การมุ่งให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง มีสภาวะแวดล้อมที่พร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ ไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ”
ทั้ง 2 ย่อหน้าข้างบนนี้คัดมาจากบทความเรื่อง “เส้นทางสู่สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้”โดยศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า
กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายขบวนการต่างๆที่มีขึ้น 2 ครั้งเมื่อเดือนมีนาคม และเมษายน ที่ผ่านมาที่ประเทศมาเลเซียถือเป็นก้าวแรก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกับการบรรลุผล
ย้อนกลับมาที่สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ที่ได้เสนอ “แผนที่เดินทางสู่สันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ “Peace Roadmap For The Deep South Of Thailand” ต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งสำนักข่าวอิศราอ้างว่า โรดแม็ปนี้ ไม่ได้รับการตอบรับหรือปฏิบัติตามเท่าที่ควร ทั้งๆที่สถาบันพระปกเกล้าก็เป็นหนึ่งในกลุ่มงานสนับสนุนการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ซึ่งเป็นกลุ่มงานหนึ่งในสมช. ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นอกจากนั้น สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้ายังได้เสนอ “แผนที่เดินทางสู่สันติภาพ” เอาไว้โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จากเดือนเมษายน 2556 ถึงเดือนเมษายน 2558 เริ่มจาก
- ลงนามในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งดำเนินการไปแล้วระหว่าง พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสมช. กับนายฮัสซัน ตอยยิบ ที่อ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น
- แต่งตั้งคณะผู้แทนระดับสูงซึ่งต้องครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย
- พิจารณาวาระการพูดคุยที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันสำหรับการพบกันอย่างเป็นทางการ
- การพูดคุยอย่างเป็นทางการเน้นทำความเข้าใจกระบวนการพูดคุย เช่นความถี่ในการพูดคุย การพิจารณาบทบาทของสื่อมวลชน แต่งตั้งผู้สื่อสารกับสาธารณะ การรักษาความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมพูดคุย เป็นต้น นอกจากนั้น ควรมีการตั้งคณะพูดคุยหลัก และพิจารณามาตรการเบื้องต้นในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน
- ดำเนินการตามมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน ทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริม เช่น การเริ่มลดความรุนแรง การส่งเสริมการใช้ภาษามลายู การยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ และการปล่อยตัวนักโทษ เป็นต้น
- พูดคุย หารือ และติดตามผลดำเนินการกรอบประเด็นการพูดคุยเพื่อนำไปสู่ “ข้อตกลงสันติภาพ” ควรครอบคลุมด้านความมั่นคง การบริหารปกครอง การศึกษา ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การพัฒนา การปฏิรูป กฎหมาย การยอมรับอัตลักษณ์ ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
หลังจากผ่านขั้นตอนกำหนดประเด็นพูดคุยเพื่อนำไปสู่ “ข้อตกลงสันติภาพ” แล้ว จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันพิจารณา “ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว” พร้อมตั้งคณะทำงานพูดคุยในรายละเอียดของแต่ละประเด็นเพื่อนำไปสู่ “ข้อตกลงสันติภาพ”
สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เสนอแนวทางไว้ชัดเจนแล้ว
สมช.และรัฐบาล จะมีความกล้าหาญทางการเมืองพอ ที่นำไปใช้หรือไม่
พี่น้องไทยพุทธ-ไทยมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วทั้งประเทศ รอคอยสันติภาพมานานแล้ว !
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับพฤษภาคม 2556