The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   เติมรัก สามัคคี กับกิจกรรม"คนรุ่นใหม่หัวใจรักแผ่นดิน"

เติมรัก สามัคคี กับกิจกรรม"คนรุ่นใหม่หัวใจรักแผ่นดิน"

โดย : เอกราช มูเก็ม/สาลินี ปราบ

            สำนักข่าวอะลามี่ : ค่ายเยาวชน "คนรุ่นใหม่หัวใจรักแผ่นดิน” ดึงเยาวชน 6ภาค เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม และประชาธิปไตย สู่ความรักสามัคคีของเยาวชนคนในชาติ


            โครงการค่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชน “ คนรุ่นใหม่หัวใจรักแผ่นดิน” รุ่นที่ 1 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 -12 พ.ค.2556 นอกจากเยาวชนจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากวิทยากรแล้ว เยาวชนที่เข้าอบรมยังดูงานในโครงการหลายแห่งทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด บนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก่อนจะมาจัดกิจกรรมหลัก ณ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

            ผศ.รุจี พาสุกรี คณบดีบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตน์โกสินทร์ ในฐานะประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า ด้วยสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้นักศึกษาทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ประกอบด้วยบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชน ได้มีส่วนร่วมในการทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม สร้างเสริมคุณค่าแก่สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน เพื่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติ

            โดยนักศึกษาหลักสูตรปฏิบัติการจิตวิทยาฝ่ายอำนวยการ รุ่นที่ 111 ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตน และมุ่งสืบสานแนวคิดด้วยเจตจำนงเดียวกัน จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รัตนโกสินทร์ และ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการค่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชน “คนรุ่นใหม่หัวใจรักแผ่นดิน” รุ่นที่ 1 ขึ้น เพื่อหล่อหลอมให้เยาวชนคนไทยจากจังหวัดชายแดนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้มีโอกาสมาอยู่ร่วมกันโดยสันติ ท่ามกลางความแตกต่างในเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์ เรียนรู้ร่วมกันผ่านกระบวนการทำกิจกรรมและการศึกษาดูงานที่เป็นประโยชน์ 

            สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการจะเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15 – 18 ปี จากจังหวัดชายแดนและส่วนกลางรวม 6 ภูมิภาค ภาคละ 6 คน ประกอบด้วย เยาวชนจาก โรงเรียนบดินทรเดชา กรุงเทพมหานคร โรงเรียนทองผาภูมิวิทยา กาญจนบุรี โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก บุรีรัมย์ โรงเรียนซับนกแก้ววิทยา สระแก้ว โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ นราธิวาส โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พัฒนาการ เชียงราย รวมทั้งสิ้น 36 คน และครูพี่เลี้ยง 7 คน

             ผศ. รุจี กล่าวถึงผลสำฤทธิ์ของการจัดกิจกรรม จะเห็นว่าเด็กเหล่านี้กล้าแสดงออกได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเพื่อนโดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนที่เป็นมุสลิม ซึ่งสอดรับจุดประสงค์ที่เราคาดหวังว่าเด็กจะมีการเรียนรู้ในเรื่องภาษา วัฒนธรรม และการเรียนรู้ประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่การปฎิบัติ และขยายผลในโรงเรียนหรือชุมชนต่อไปในอนาคต

            หลังจากเยาวชนผ่านการอบรมแล้วเราจะติดตามโครงการต่อเนื่อง โดยมอบทุนให้คนละ 2,000 บาท เพื่อให้เยาวชนไปรวมกลุ่มไปจัดทำโครงการเพื่อนำมาเสนอซึ่งจะเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง โดยมีคอนเซ็ป " ความรักสามัคคี "  โดยแต่ละกลุ่มจะส่งโครงการเข้าประกวดเพื่อคัดเลือกโครงการต้นแบบ "รางวัลเดอะเบสโปรเจค" ในปลายเดือนสิงหาคม ที่จะถึงนี้

            ด้าน พลตรีก้องเกียรติ พลขันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนจะได้รับความรู้ ประสบการณ์ หล่อหลอมให้เกิดซาบซึ้งในแผ่นดินไทยอันเป็นที่รัก รวมทั้งจะเป็นการอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประชาชน ตลอดจนแก่ผู้แทนเยาวชนทั้ง 6 ภูมิภาค เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ได้รับประสบการณ์จากการศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯหลายโครงการ ได้ร่วมทำกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์สังคมไทย ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้ ทำงาน และใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การตกผลึกเป็นแผนงานโครงการเพื่อสร้างสรรค์สังคมสมานฉันท์ต่อไป

เปิดใจตัวแทนเยาวชน6ภาค

            เกศรินทร์ พวงมาลัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่5จากโรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในเยาวชนที่เข้าค่ายในครั้งนี้บอกว่าสิ่งที่ประทับใจมากที่สุดในการเข้าอบรมโครงการนี้นี้คือได้เพื่อใหม่และความรู้ใหม่ๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและนับว่าเป็นประสบการณ์ใหม่มากคือเป็นครั้งแรกที่เห็นเพื่อนทำพิธีตามศาสนาและความเชื่อของตนโดยเฉพาะเพื่อนที่นับถือศาสนาอิสลาม

            ขณะที่ มูณีฟะห์ อาลี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่5 จากโรงเรียนอัตตัรกิยะก์อิสลามียะห์ จากจังหวัดนราธิวาส ก่อนหน้านี้เคยมีประสบการการเข้าค่ายจากหลายกิจกรรม แต่เมื่อมาสัมผัสกับโครงการนี้ ทุกคนจะให้เกียรติกับนักเรียนที่เป็นมุสลิมมาก ทั้งเรื่องอาหารการกิน การจัดสถานที่เพทื่อให้ประกอบศาสนะกิจ

          " กิจกรรมในครั้งนี้เราได้รับความรู้เน้นเรื่องความรักแผ่นดิน กิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เราเห็นคุณค่าตัวเองว่าคนส่วนใหญ่ยังต้องการหนู และทุกคนก็เห็นว่าหนูเป็นคนไทยเหมือนกับเขา "

            ด้าน อัญชนา เทพารักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนซับนกแก้ววิทยา จากจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ในอดีตไม่เคยมีเพื่อนที่เป็นมุสลิม แต่โครงการนี้ทำเราเรารู้จักเพื่อนที่เป็นมุสลิม ปละเป็นครั้งแรกที่ทำให้เรารู้จักคำว่ามุสลิมมากขึ้น นอกจากนี้ยังรู้จักคำว่าประชาธิปไตยจากเกม ที่พี่เลี้ยงจัดให้ด้วย

            ขณะที่ ธีระศักดิ์ มั่งมี นักเรียนจากโรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก จังหวัดบุรีรัมย์ บอกว่า ที่ผ่านมารู้จักมุสิลมและอิสลามผ่านจินตนการ และสื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพในทางลบ แต่พอมาสัมผัสและรู้จักเพื่อนที่เป็นมุสลิม ที่เป็นทั้งหญิงและชาย ทำให้เราเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนความรู้สึก นอกจากนี้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและความเชื่อบนความหลากหลาย และเรื่องประชาธิปไตย ทำให้เรารู้จักและรักประชาธิปไตยมากขึ้น

            ปภัสมา นุดนาบี จากโรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี ) 4 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยเข้าค่ายศาสนาแต่ค่ายนี้จะมีความแตกต่างจากค่ายอื่น เพราะเรามีเพื่อนที่หลากหลาย ประทับใจการให้ความรู้ของวิทยากรและการดูแลอย่างดี นอกจากนี้เกมที่วิทยาการจัดให้ ทำให้เห็นภาพจริงของการเมืองมากขึ้นว่ามีความซับซ้อนกว่าที่เราเห็น ทำให้เรารู้จักว่าทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการวางแผน

            ขณะที่ ณัฐนิชา คำตัน นักเรียนจากโรงเรียนทองผาภูมิ จังหวัดกาญจบุรี กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เรารู้จักภาษาของคนในประเทศแต่ละภาคมากขึ้น เรียนรู้วัฒนธรรมของคนแต่ละภาคมีความหลากหลาย และได้รู้จักคำว่าประชาธิปไตยจากวิทยากร และที่สำคัญทำให้เรารู้จักคำว่า รักสามัคคี จากกิจกรรมและการใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งหลังจากจบค่ายไปแล้ว จะทำให้เรามีเพื่อนทุกภาค ทำให้เรารักประเทศไทยมากขึ้น

ตีพิมพ์ครั้งรแก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือน มิถุนายน 2556