“ลา”หนึ่งใน 5 ขนมประจำเทศกาลบุญสารทเดือนสิบเมืองคอน
สำนักข่าวอะลามี่: “หมู่บ้านขนมลา” บ้านหอยราก ต.หูล่อง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตขนมลา ถือเป็นขนม 1 ใน 5 อย่าง ที่ใช้สำหรับการประกอบงานบุญสารทเดือนสิบ ได้รสดีที่สุดแหล่งหนึ่งของนครศรีธรรมราชจนมีชื่อเสียง โด่งดังแม้ว่าจังหวัดอื่นๆจะไม่รู้จักขนมลาในประเภทที่ใช้ในงานบุญ แต่จะไปรู้จักและลิ้มรสแสนหอมหวานกับ “ขนมลาอับ” “ขนมลาม้วน” “ขนมลากรอบ” ซึ่งเป็นขนมของฝากที่ขึ้นชื่อของนครศรีธรรมราช ไปแล้ว "กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล " รายงาน
นอกจากเป็นของฝากแล้วยังมีบทบาทที่สำคัญเป็นขนมสำหรับงานบุญที่ลุกหลานบรรจงส่งไปถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปใช้สอยเป็นเครื่องนุ่งห่มยังยมโลกในช่วงบุญสารทเดือนสิบประจำปี
“เดี๋ยวนี้หมู่บ้านศรีสมบูรณ์ หรือหมู่บ้านหอยรากเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งประเทศ สมาชิกในหมู่บ้านแทบทุกครัวเรือนต่างผลิตขนมลา และขนมอื่นๆที่เกี่ยวข้องออกจำหน่ายจนเป็นแหล่งผลิตขนมงานบุญ ที่สำคัญของนครศรีธรรมราช เมื่อก่อนนั้นทำกันแค่ช่วงเทศกาลเดือนสิบเท่านั้น แต่ระยะหลังหลายปีที่ผ่านมาได้คิดค้นแปรรูปเป็นขนมของว่างแปรรูปจากลาแผ่นเช่น ลาอับน้ำตาล ลาม้วน หรือที่เรียกว่า “ลางู”ส่งขายไปได้ทั้งปี มาซื้อที่นี่ขายส่งจำนวยนมา กก.ละ 150-180 บาท ขายปลีก กก.ละ 200 บาท ส่วนลาแผ่นนั้นขายส่ง กก.ละ 60 บาท ขายปลีก กก.ละ 100 บาท ทีเดียว หลายหน่วยงานให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีมีอาชีพที่มั่นคงกันทุกครัวเรือน จนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นหมู่บ้านดีเด่นของจังหวัด ” สุชาวดี ชิณวงศ์ วัย 52 ปี นักทอดลามืออาชีพของหมู่บ้านแห่งนี้บอก
สำหรับความหมายของขนมแต่ละอย่างนั้น โบราณมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าในงานบุญสารทเดือนสิบนั้นบรรพบุรุษผู้ล่วงลับที่ไปตกระกำลำบากอยู่ในยมโลกจะหวนกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อรับส่วนกุศลที่ลูกหลานทำบุญมอบไปให้ โดยขนมแต่ละอย่างใช้แทนความหมายที่สำคัญคือ 1.ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม เหตุเพราะขนมลามีรูปทรงดังผ้าถักทอ พับ แผ่ เป็นผืนได้
2.ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนเรือ แพ ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เหตุเพราะขนมพองนั้นแผ่ดังแพมีน้ำหนักเบาย่อมลอยน้ำ และขี่ข้ามได้ 3.ขนมบ้า(สะบ้า) เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า สำหรับใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์ เหตุเพราะขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน 4.ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงิน เบี้ย สำหรับใช้สอย เหตุเพราะรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย 5.ขนมกง(ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะคล้ายกำไล แหวน
ส่วนการทำขนมลานั้นเริ่มจากการเตรียมแป้งนำข้าวเจ้ามาผสมกับข้าวเหนียว (ข้าวเจ้า 1 ถัง : ข้าวเหนียว 4 กิโลกรัม) นำมาซาวให้เข้ากันแล้วนำไปแช่น้ำประมาณ 2 ชั่วโมง เสร็จแล้วล้างให้สะอาด นำมาใส่กระสอบหมักไว้ 2 คืน พอครบกำหนดก็ลองบีบเมล็ดข้าวดูว่าเปื่อยร่วนพอที่จะบดได้หรือยัง ถ้าเห็นว่าเปื่อยรวนแล้วหลังจากนั้นก็นำข้าวสารมาล้างให้หมดกลิ่น ถ้าหากหมดกลิ่นและดูว่าสะอาดแล้วก็นำไปวางให้สะเด็ดน้ำประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำแป้งไปบดให้ละเอียด เสร็จแล้วนำแป้งที่บดแล้วไปกรองด้วยผ้ากรอง 2 ครั้ง เพื่อให้ได้แป้งที่ขาวสะอาดและละเอียด เมื่อกรองเสร็จแล้วก็นำแป้งไปตั้งพักไว้เพื่อให้แป้งตกตะกอน
เมื่อเห็นว่าแป้งตกตะกอนก็เทน้ำใสๆข้างบนทิ้งแล้วนำแป้งที่บรรจุถุงผ้าบางๆผูกให้เรียบร้อยจะได้เป็นรูปวงกลม แล้วนำไปใส่เครื่องหนีบแป้งใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง เมื่อดูว่าแป้งแห้งสนิทแล้วจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็งสีขาว
ขั้นตอนที่ 2 วิธีการผสมแป้งนำแป้งที่แห้งแล้วไปตำให้ร่วน แล้วนำแป้งไปตี ใส่น้ำผึ้งจากหรือน้ำเชื่อม (น้ำตาลทรายหรือน้ำตาลปีบ) ใส่ที่ละนิดตีให้เข้ากันจนดูเป็นเนื้อเดียวกัน แป้งจะมีลักษณะเหลวข้น แล้วลองชิมดูจนเป็นที่พอใจ รสจะออกหวานๆ แล้วลองเอามือจุ่มดูเมื่อเห็นว่าแป้งโรยได้ไม่ขาดสายก็ใช้ได้
ขั้นตอนที่ 3 วิธีการโรยหรือทอด ในการทอดขนมลาต้องใช้กะทะขนาดใหญ่ เตาไฟใช้ได้ทั้งเตาแก๊สและเตาถ่านแต่การใช้เตาแก๊สสามารถปรับระดับความร้อนได้ดีกว่า เมื่อเตรียมอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำกะทะตั้งบนไฟอ่อนๆ แล้วเอาน้ำมันผสมไข่แดงเช็ดกะทะให้ทั่วแล้วนำแป้งใส่กระป๋องที่เจาะรูที่ก้นเป็นรูเล็กๆจำนวนมาก แล้วนำไปโรยลงกะทะหลายๆครั้งจนได้ขนาดที่ต้องการ แต่ต้องไม่ให้หนาหรือบางเกินไปเมื่อขนมลาในกะทะสุกจะหยิบขึ้นมาวางซ้อนกันหรือจะม้วนตามแต่วิธีการ
นายจเร แก้วกำเนิด นายก อบต.หูล่อง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ไม่เฉพาะในช่วงเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ เงินสะพัดในหมู่บ้านผลิตลา หรือหมู่บ้านหอยรากแห่งนี้นับสิบล้านบาทต่อเดือนทีเดียว ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะการซื้อขายขนมลา และขนมอื่นๆเท่านั้น แต่หมายถึงการซื้อขายกระจายไปในหลายส่วนทั้งข้าวสาร น้ำผึ้ง แก๊ส และอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกจิปาถะ
“ในช่วงเทศกาลสารทเดือนสิบรายได้จะเพิ่มมากขึ้นเงินสะพัดเพิ่มมากขึ้นต่อวัน บางครอบครัวผลิตลาได้ถึงกว่า 100 กก.เฉลี่ยหากเป็นลาแผน กก.ละ 80 บาทในราคาส่งวันหนึ่งๆรายรับ 8 พันบาทไปแล้ว ส่วนลาแปรรูป กก.ละ 150-180 บาท กว่า 100 กก.ต่อวันรายรับยิ่งมากขึ้นตามลำดับ "
ด้วยเหตุนี้ ทาง อบต.พยายามที่จะส่งเสริมสนับสนุนในการสร้างฐานขยายการตลาดให้มากขึ้น และพยายามที่จะสร้างการรวมกลุ่มเพื่อขยัราคาขึ้นบ้างราคานี้ยืนอยู่หลายปีแล้วยังไม่มีการขึ้นราคากันเลย อีกอย่างหนึ่งคือการผลักดันให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว สามารถมาเที่ยวดูวิถีชีวิตการทำขนมลา การผลิต การร่วมกันทำขนมกับชาวบ้านแล้วซื้อกลับไปเป็นของฝาก ถือเป็นหมู่บ้านทำขนมแหล่งเดียวของประเทศไทยก็ว่าได้