ท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตฮาลาลมุสลิมเชียงใหม่
HALAL HISTORY สุดยอดฮาลาลล้านนา
โดย วรัญญา พุ่มเพ็ชร
สำนักข่าวอะลามี่ : เชียงใหม่ไม่เพียงแต่เป็นปลายทางและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ยังคงความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงฮาลาล
“ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายจีนแห่งล้านนา” นับเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ ส่งต่อเรื่องของ “ชุมชนมุสลิมบ้านฮ่อ” ที่มีประวัติศาสตร์และเล่าขานกันต่อๆ มาว่า พ่อค้าชาวจีนยูนนานมุสลิม ได้เดินทางเข้ามาตั้งรกรากประกอบสัมมาอาชีพในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลาเกือบ 150 ปี เป็นที่มาและกำเนิดชุมชนชาวมุสลิมบ้านฮ่อ ที่มีอัตลักษณ์หล่อหลอมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ท่ามกลางสังคมที่หลากหลายกับเพื่อนต่างศาสนิกอย่างสันติสุข
ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย กล่าวในโอกาสเดินทางมาร่วมกิจกรรม HALAL HISTORY สุดยอดฮาลาลล้านนา ว่า การเติบโตของนักท่องเที่ยวมุสลิม ทำให้มีส่วนในการพัฒนาวิถีชีวิตมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิม
ทั้งนี้จะเห็นว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก จากตัวเลขของนักท่องเที่ยวมุสลิมในอาเซียน จำนวน 250-300 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีประชากร 60 กว่าล้านคน และคาดว่าในปี 2020 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาอีก 500 ล้านคน
“ จากแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว จะทำให้การท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตฮาลาล และไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่ฮาลาล จะมีมูลค่ามากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ”
ดร.ปกรณ์ กล่าวว่า สำหรับการท่องเที่ยววิถีชีวิตฮาลาลในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น ชุมชนเก่าแก่ ชุมชนมุสลิมบ้านฮ่อ อย่างไรก็ตามหน่วยงานบริการด้านข้อมูล จะต้องทำงานให้อัพเดทด้านข้อมูลการเติบโตของนักท่องเที่ยวมุสลิม และมีส่วนในการพัฒนาท่องเที่ยววิถีชีวิตมากขึ้น
“ ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวมุสลิมประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวมุสลิม เรามีความพร้อมในด้านที่พัก มีครัวมาตรฐานฮาลาล โรงแรมมีเครื่องหมายบอกทิศสำหรับปฏิบัติศาสนกิจ และอื่นๆ ซึ่งมั่นใจว่า เชียงใหม่เองก็สามารถรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิมได้ ”
ด้าน อาจารย์กรกช ฐิติวิกานต์ (โขนงนุช) ในฐานะที่ปรึกษาความเป็นเลิศด้านไมส์ กล่าวว่า เชียงใหม่มีชุมชนหลายแห่ง ที่สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมได้ จึงจัดตั้ง Mice City เชียงใหม่ ให้เป็นไมส์อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากเรามีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว
เช่น ห้องพัก การจัดการประชุม (Exhibition) มีอาหาร และโรงแรม ซึงปัจจุบันเราสามารถรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมได้ถึง 10 แห่ง มี อาหารจีน และอาหารไทย อาหารเวียดนาม และผู้ประกอบการที่เป็นมิตรกับมุสลิม (Muslim Halal Friendly) โปรแกรมการท่องเที่ยวที่ไม่ขัดต่อฮาลาล เช่น ชุมชนบ้านฮ่อ เชียงใหม่ (ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายจีนแห่งล้านนา)
นอกจากนี้ยังมีชุมชนอื่นที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของชาวมุสลิม เช่น ชุมชนฝาง มีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อระบบการท่องเที่ยวเชิงฮาลาล เช่น วิถีชีวิตการปลูกชาของคนเชียงใหม่ และการท่องเที่ยวมุสลิม (อ.สารภี ปลูกพืชสมุนไพร) ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันชุมชนก็มีความเข้าใจในเรื่องของวิถีชีวิตมากขึ้น