สุภาพบุรุษอันดามัน : อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก
โดย เอกราช มูเก็ม
” ชูยุทธศาสตร์ THE ONE สร้างองค์กรให้มีเอกภาพ
บริหารความสมดุลระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ทำงานให้เกิดประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง..”
สำนักข่าวอะลามี่: สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในสี่เสาหลักของภาคเอกชน ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พรบ. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสมาชิกการท่องเที่ยวภาคเอกชนทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีบทบาทในการ ขับเคลื่อน การพัฒนา ผลักดัน แนวนโยบายในเรื่องพัฒนาการท่องเที่ยว ด้านการตลาด พัฒนาบุคลากรและพัฒนาในมิติอื่นๆ ด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับกับภาครัฐ
คุณอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก นักธุรกิจและเจ้าของโรงแรมอ่าวนาง ปริ้นซ์วิลล์ รีสอร์ต แอนด์ สปา จังหวัดกระบี่ ใช้ชีวิตครุกคลีกับการท่องเที่ยวมายาวนาน ผ่านประสบการณ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่หลายสมัย ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่ง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
อิทธิฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์ นิตยสาร อะลามี่ ในโอกาสครบสองปีของการดำรงตำแหน่ง ว่าที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยในหลายมิติ ทั้งในรูปแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาบุคลากร รวมถึงการตลาด โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาเขื่อมโยงตลาดการท่องเที่ยวชุมชน และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญดูแลในเรื่องการกำหนด แนวนโยบายผลักดัน เรื่องของการเชื่อมโยงและการพัฒนาการด้านท่องเที่ยวทั้งระบบ
ในช่วงที่ผ่านมาได้จัดสัมมนาในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นการกระจายความรู้ ด้านการปฎิรูปการท่องเที่ยวได้เข้าใจถึงบทบาทและภารกิจการทำงาน การเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การประสานงานในแต่ละพื้นที่ ให้แต่ละคลัสเตอร์ ที่โดดเด่นสามารถกำหนดเป้าหมายการท่องเที่ยวและพัฒนาท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อรองรับการการเติบโตของการท่องเที่ยวในอนาคต
ขยายตลาดเพิ่มรายได้เข้าประเทศ
สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลต้องการเน้นในเรื่องของรายได้ มากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ จึงมองเห็นว่า บทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญในการสร้างรายได้เข้ามาในประเทศได้ นั่นก็คือ รายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศมุสลิม
“ เราได้นำเสนอเรื่องของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มประเทศมุสลิม เพื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว และพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศดังกล่าว ”
อิทธิฤทธ์ กล่าวว่า จากการทำงานสองปีที่ผ่านมา เราได้เชื่อมโยงทางด้านการตลาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ททท. ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจ และพัฒนาผู้ประกอบการส่วนในเรื่องของการตลาด โดยเน้นตลาดที่มีศักยภาพและการเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อที่จะให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย สิ่งเหล่านี้เรากำลังดำเนินการอยู่
“ สิ่งสำคัญคือ เราต้องพัฒนาบุคลากร เพราะเป็นหัวใจหลักของการท่องเที่ยว ล่าสุดเราได้หารือกับกระทรวงแรงงาน ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์บุคลากรภาคบริการ เพิ่งได้ผ่าน ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ในอนาคตจะมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบมากขึ้น รวมถึงการร่าง MRA มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพต่างๆ ในเรื่องของมาตรฐานแรงงานอาเซียน เพื่อรองรับและแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต ”
สำหรับตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2559 พบว่าเฉพาะในช่วง 8 เดือนแรก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวน 22 ล้านคนเศษ เพิ่มขึ้นประมาณ 11 % คาดว่าทั้งปีนี้เราจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 33 ล้านคนเศษ มีรายได้จากการท่องเที่ยว (นักท่องเที่ยวต่างประเทศ) ประมาณ 1.74 ล้านล้านบาท ถ้ารวมกับรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางในประเทศอีกประมาณ 8 แสนล้านบาท น่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ คือ 2.5 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ประมาณ 9-10 % เป็นนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศมุสลิม หากเราขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เป็นที่รู้จัก สร้างระบบในการรองรับที่ดี นักท่องเที่ยวจากประเทศมุสลิมซึ่งมีทั่วโลกราว 1,600 ล้านคน จะเป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อที่ชัดเจนมาก
อิทธิฤทธิ์ กล่าวถึงการทำงานสองปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะพยายามจะขับเคลื่อนในหลายๆ ด้าน แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้นทำให้ยุทธศาสตร์หลายอย่างยังรอผลสำเร็จ เช่น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สร้างความแข็งแกร่ง สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในชุมชน
ทั้งนี้การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชน นับเป็นเรื่องใหญ่ที่จะสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากขึ้นมา ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ แต่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น เพื่อเป็นจุดขายในเรื่องของการท่องเที่ยว การสร้างประสบการใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว นี่คือจุดขายใหม่ที่เราจะต้องดูแลการท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราก็ได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในการเข้าไปพัฒนาแหล่งการท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบ ซึ่งในอนาคตก็จะสามารถกระจายไปในพื้นที่อื่นๆเพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาล หรือ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยวมากขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่จะต้องผลักดันต่อไป
ชูยุทธศาสตร์ THE ONE ขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทย
คุณอิทธิฤทธิ์ ยังได้เสนอมุมมองและยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยจากนี้ไปว่า การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากนี้ไปจะต้องรวมพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จะต้องร่วมกันทำงานยุทธศาสตร์นี้เรียกว่า THE ONE เพราะได้พิสูจน์แล้วว่า การท่องเที่ยวนับเป็นหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ
“ การท่องเที่ยวจะเป็นมิติใหม่ และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในทุกมิติ เพราะฉะนั้นในสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องขับเคลื่อนให้สอดรับการนโยบายรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0”
จากผลงานและยุทธศาสตร์ที่ผลักดันมาตลอดสองปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างที่ยังไม่แล้วเสร็จ และรอการขับเคลื่อนต่อไป สำหรับเป้าหมายในการทำงานอีก 2 ปีข้างหน้า (ถ้าได้ทำงานต่อ) โดยมีเป้าหมายและนโยบายหลักๆ คือ
1. การสร้างความเป็นเอกภาพ บริหารความสมดุลระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 2. กำหนดในเรื่องของการผลักดันโครงการงบประมาณต่างๆ ให้มีความเชื่อมโยงระหว่างส่วนกลาง กับส่วนภูมิภาค โดยผ่าน สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
3. การสร้างระบบการติดตามประเมินผล เนื่องจากการทำงาน จะต้องมีการชี้วัด รวมถึงการประเมินผล เพื่อให้เห็นภาพของการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพัฒนาปรับปรุงการทำงาน นำไปสู่การแก้ไขต่อไป
4. การสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มาร่วมทำงานกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริงในแต่ละกลุ่ม ด้วยการผลักดันนโยบายสาธารณต่างๆเพื่อเปิดโอกาสนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวด้อยโอกาส กลุ่มคนพิการ คนชรา ฯลฯ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างทัดเทียมกัน
“ สิ่งสำคัญคือจะต้องผลักดันในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีการพัฒนาเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ให้ผู้พิการหรือหรือผู้ด้อยโอกาส ได้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว และมีความปลอดภัย นี่คือหัวใจสำคัญ ”
สำหรับนโยบายสุดท้ายคือ การสร้างพลังด้วยการเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มากขึ้น เพื่อให้สมาชิกของสภาในแต่ละภูมิภาคต่างๆมีความเข้มแข็ง ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ จะมีความเข้มแข็งได้ สมาชิกก็ต้องมีความเข้มแข็งเช่นกัน นี่คือหัวใจสำคัญในการที่จะช่วยกันขับเคลื่อนในอนาคต
โดยภาพรวมของประเทศไทย ถือว่าเราได้เปรียบ ในเรื่องของยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศ ในการเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการเติบโตของสายการบินโลว์คอส ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศกลุ่มโลกมุสลิม และไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและสะดวก
“เราตั้งเป้าว่าอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวมีคุณภาพอยู่ในระดับโลก ตามยุทธศาสตร์ที่ได้ตั้งไว้ จึงต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาคน ระบบโลจิสติกส์ พัฒนาด้านการคมนาคม เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อนับเป็นเรื่องที่สำคัญ ”
อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศไทย เป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 9 ของโลก เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และอยู่ในอันดับ 1 ของอาเซียน คาดว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะต้องเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ที่รายล้อมบ้านเราอยู่ ที่มีความใกล้เคียงและมีความเชื่อมโยงกันถือว่าเป็นจุดขายในอนาคต เช่น ในเรื่องของความหลากหลาย ของวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตในภูมิภาคอาเซียน จะสามารถเชื่อมโยงให้เกิดการท่องเที่ยว สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะต้องการหาประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ๆ และมีความหลากหลาย
นี่คือส่วนหนึ่งมุมมอง และประสบการณ์ทำงานด้านการท่องเที่ยว ของ “ อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก” นักธุรกิจจากอันดามัน สู่บทบาท ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศ โดยเฉพาะ การท่องเที่ยวเชิงฮาลาล ที่รอการผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป