People Focus
Home   /   People Focus  /   รายอ กีตา : Raja Kita

" รายอกีตอ "Raja Kita

  โดย เอกราช มูเก็ม

            หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นเรื่องเก่าที่ผมเคยเขียนลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและตีพิมพ์ซ้ำใน บล็อคส่วนตัว เมื่อวันศุกร์ ที่ 27 เมษายน 2550

           แม้เวลาจะนานพอสมควร แต่บทความนี้ ผมเชื่อว่ายังใช้ได้และสามารถถ่ายทอดให้ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม ได้รับทราบและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

+++++++++++++++++++



            สำนักข่าวอะลามี่ : ในความร้อนแห่งไฟใต้นั้น คนไทย มิได้สิ้นหวัง และยังมีที่พึ่งทางจิตใจของประชาชนในพื้นที่ ด้วยพระบารมีของในหลวง ที่คอยเป็นกำลังใจด้วยการเยือนประชาชนในพื้นที่เป็นระยะๆ

            ด้วยความเป็นองค์อุปถัมภกของทุกศาสนานี่เอง

           ทำให้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนในพื้นที่โดยไม่เลือกชนชาติและเผ่าพันธุ์ไม่เว้นแม้ถิ่นกันดาร

            ผมอ่านพบในหนังสือฉบับหนึ่งจึงขออนุญาตนำมาเสนอ ซึ่งเขียนโดย " ว่าที่ร้อยโทดิลก ศิริวัลลภ" เป็นอดีตข้าราชการในตำแหน่งศึกษาธิการและประชาสงเคราะห์จังหวัด

            นอกจากนี้ยังมีโอกาสหลายครั้งตามเสด็จด้วยการเป็นล่ามประจำขบวนเสด็จในพื้นที่อีกด้วยและได้ถ่ายทอดถึง "รายอกีตอ " ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮ.ศ.1421 (28-30 ต.ค. พ.ศ.2543) ได้น่าสนใจ

            คำว่า "รายอกีตอ" มาจากคำว่า "รายอ" ซึ่งหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน พระมหากษัตริย์หรือในหลวง ส่วนคำว่า "กีตอ " นั้นแปลว่า เรา หรือของเรา

            ดังนั้นคำว่า "รายอกีตอ" จึงแปลว่า "ในหลวงของเรา"

           " รายอกีตอ " จึงบ่งบอกถึงความรู้สึกของคนไทยมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อันหมายรวมถึงจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นอย่างดี

            คำว่า "รายอกีตอ" จึงไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นคำที่มีความหมาย และมีความสำคัญยิ่งในความเป็นคนไทย ความเป็นชาติไทย และความเป็นประเทศไทย โดยมีองค์ประมุของค์เดียวกัน

            และ ด้วยพระบารมีตลอดจนถึงการเอาใจใส่ต่อประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นี่เอง ชาวไทยมุสลิมในชายแดนใต้จึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า " รายอกีตอบาเฮะ "

          คำว่า  "บาเฮะ" แปลว่า ดี จึงแปลความได้ว่า "ในหลวงของเราดี" และจากนั้นก็ได้พัฒนามาเรื่อยๆจนมาเป็น "กีตอกาเซะรายอกีตอ"ในเวลาต่อมา

           คำว่า "กาเซะ" แปลว่า รัก จึงแปลความหมายได้ว่า "เรารักในหลวงของเรา"

            ว่าที่ร้อยโทดิลก เล่าในหนังสือดังกล่าวว่า ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ณ ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่ก็จะได้รับเชิญให้เข้าเฝ้าฯและร่วมโต๊ะเสวย

          " และคราใดที่ตรงกับช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอด พระองค์จะพระราชทานอาหารพร้อมเครื่องดื่มแก่ชาวมุสลิม สำหรับการ "ละศีลอด" หรือ "ปูกอปอซอ" นับว่าพระองค์เข้าพระทัยในหลักการศาสนาอิสลามโดยแท้จริงอย่างลึกซึ้ง"

          นอกจากนี้มีใครสักกี่คนที่รู้ว่า พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯให้ " สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์" ทั้งสองพระองค์ทรงเรียนภาษามลายู

           พระองค์ทรงพระราชทานชื่อ หรือ พระนามแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ว่า " อามีนะ" อีกด้วย

          และนี่คือส่วนหนึ่งที่ถ่ายทอดและเป็นที่ประจักษ์ ต่อสายตาของปวงชนชาวไทย ไม่เพียงแต่ชายแดนใต้เท่านั้น นี่คือตัวอย่างพระราชดำรัส ที่ว่า "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา " อย่างแท้จริงครับ.