Halal Focus
Home   /   Halal Focus  /   ย้อนรอยฮาลาลไทย สู่ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

ย้อนรอยฮาลาลไทย สู่ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย

           ย้อนรอยเส้นทางฮาลาลไทย 68 ปี  จากอดีตนับตั้งแต่ ปี 2491 สู่ การจัดตั้งสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย กว่าจะเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

         ประเทศไทยเริ่มมีการให้การรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล นับตั้งแต่สมัยของจุฬาราชมนตรีนายต่วน สุวรรณศาสตร์ เมื่อประมาณ ๖๘ ปีที่แล้วมา โดยเมื่อประมาณกลางปี ๒๔๙๑ บริษัทแหลมทองค้าสัตว์จำกัด ขอปรึกษาแนวทางในกาปฏิบัติในการส่งไก่ชำแหละ ไปยังบริษัทลูกค้าที่ประเทศคูเวต โดยบริษัทปลายทางระบุชัดเจนว่าผลิตไก่ทุกตัวจะต้องเชือดถูกต้องตามหลักการอิสลาม โดยจะต้องมีการรับรองความฮาลาลโดยองค์กรศาสนาในประเทศไทย

 

         ในขณะนั้นอำนาจในการตรวจสอบและการออกเอกสารรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นของจุฬาราชมนตรี จึงได้เริ่มมีการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่มุ่งเน้นไปที่ไก่เพื่อการส่งออกดังกล่าวไปยังประเทศคูเวตเมื่อต้นปี ๒๔๙๒ หลังจากนั้นท่านจุฬาราชมนตรีต่วน จึงดำเนินการรับรองฮาลาลแก่ผลิตภัณฑ์ต่างๆเรื่อยมา แม้ผลิตภัณฑ์จะมีไม่มากนัก แต่ถือว่าได้รับความเชื่อถือจากสาธารณะชน ด้วยความที่ท่านจุฬาฯเป็ที่เคารพนับถือจากผู้คนโดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มิใช่มุสลิม

 

         ต่อมาในสมัยของจุฬาราชมนตรีนายประเสริฐ มะหะหมัด จึงได้มอบหมายและออกระเบียบกำหนดให้การตรวจสอบ การรับรอง และการออกตราเครื่องหมายการรับรองฮาลาล เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ท่านจุฬาราชมนตรีประเสริฐได้ของจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองกับกระทรวงพาณิชย์ ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นที่น่าสังเกตว่าโดยในช่วงเวลาทั้งสองช่วงดังกล่าวผลิตภัณฑ์ฮาลาลยังจำกัดวงอยู่เฉพาะเรื่องอาหารเพื่อการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าผลิตภัณฑ์ฮาลาลมิได้จำกัดอยู่เฉพาะอาหารเท่านั้น

 

         ภายหลังการตราพระราชบัญญัติการบริหารองค์การศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ การดำเนินกิจการ      ฮาลาลเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในเชิงของการจัดวางระบบและการออกระเบียบ ทั้งนี้เนื่องจากตามความในมาตรา ๑๘  (๕) (๖) และ (๙)  กับมาตรา ๒๖ (๑๓) แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้คณะกรรมการอิสลามกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (สกอจ.) มีอำนาจออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม

        ดังนั้น งานด้าน “ฮาลาล” ในประเทศไทยนับตั้งแต่เวลานั้นจึงถือเป็นอำนาจตามกฎหมายของ สกอท. และ สกอจ.หรือองค์การศาสนาอิสลามโดยตรง

 

         จากนั้นเป็นต้นมา การดำเนินพันธกิจฮาลาลของ สกอท.และ สกอจ.เริ่มมีรูปแบบด้านโครงสร้าง กระบวนการ วิธีปฏิบัติที่ชัดเจน กับมีการพัฒนาทั้งในเชิงคุณภาพทางวิชาการ และมาตรการในการกำหนดแนวทางเพื่อการตรวจสอบ การรับรอง และการออกเครื่องหมายแสดงผลิตภัณฑ์ที่มี “ตราฮาลาล” อันเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป ทั้งในส่วนของค่านิยมของผู้บริโภค (Customer values) ผู้ผลิต ตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดเส้นทางจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ในการพัฒนาการผลิต การดำเนินงานจัดจำหน่าย และการพัฒนาคุณภาพการบริการ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดตามมาคือความเชื่อถือของมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย

 

          ลักษณะเด่นที่สุดของกิจการฮาลาลไทยคือ การกำหนดมาตรฐานกลางมาตรฐานเดียว กับมีออกตรา ฮาลาลเพียงตราเดียว ภายใต้อำนาจของ สกอจ. และ สกอท.

 

          นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้เริ่มต้นผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไทยออกสู่ตลาดโลก ทั้งนี้ เพื่อการเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรมอาหารที่หนุนเนื่องด้วยความแข็งแกร่งของภาคเกษตรกรรม ในเชิงของการผลิตจากฟาร์มไปสู่การบริโภคบนโต๊ะอาหาร (From farm to table) อันถือเป็นภาคการผลิตและบริการที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบในเชิงเปรียบเทียบของการแข่งขันระหว่างประเทศ การผลักดันยุทธศาสตร์ “ครัวไทยไปสู่ครัวโลก (Kitchen of the World)” จึงถือเป็นเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ผลที่ได้รับคือประเทศไทยครองตำแหน่งอยู่ในอันดับต้นของโลกของการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสู่ตลาดในทุกภูมิภาคของโลกในปัจจุบัน

 

             อนึ่ง ในการผลักดันยุทธศาสตร์นี้ หน่วยงานภาครัฐพิจารณาว่าตลาดโลกมุสลิม เป็นอีกภาคหนึ่งที่มีทั้งปริมาณผู้บริโภคจำนวนมากถึงประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านคน ใน ๑๔๘ ประเทศ ส่วนหนึ่งรวมตัวเป็นประชาคมเฉพาะเป็นภาคีประเทศภายใต้ “องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation or OIC)” อันมีสมาชิกรวมกัน ๕๗ ประเทศ กับอีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศรอบอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Countries or GCC) โดยประเทศ เหล่านี้เป็นตลาดที่มีความต้องการผลิตฮาลาลในอัตราที่ต่อเนื่อง

 

            ตามสถิติด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารของประชากรโลกมุสลิมมีมูลค่าโดยรวม ณ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ อยู่ที่ ประมาณ ๗,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะในส่วนของการค้าระหว่างประเทศด้านผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลในปีเดียวกัน มีมูลค่าสูงถึงประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

 

          จากความสำคัญของยุทธศาสตร์การส่งออกผลิตภัณอาหารและความเติบโตของตลาดฮาลาลในโลกหน่วยงานภาครัฐของไทยพิจารณาว่าการที่ประเทศไทยมีจุดแข็งคือ มีศักยภาพในการผลิตอาหาร และมีโอกาสที่มีตลาดสินค้าอาหารสำหรับประชากรมุสลิมซึ่งมีขนาดที่ใหญ่มาก แต่ประเทศไทยมีจุดอ่อนจากการที่ไม่ใช่เป็นประเทศมุสลิม การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การผลิต และการส่งออกอาหารฮาลาลจึงจำเป็นจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับของผู้บริโภคที่เป็นประชากรมุสลิม ในประเด็นที่ว่าอาหารที่ผลิตจากประเทศไทยเป็นอาหารฮาลาล ซึ่งถูกต้องตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามและมาตรฐานฮาลาลสากล

 

 

          ในการสร้างความเชื่อถือและการยอมรับของผู้บริโภคในต่างประเทศ จำเป็นต้องผลักดันให้มาตรฐานอาหารฮาลาลและการตรวจสอบรับรองคุณภาพโดยองค์กรทางศาสนาถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จ  ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ภาครัฐจึงให้การสนับสนุนเรื่องการกำหนดมาตรฐานอาหารฮาลาล และการสร้างระบบการตรวจสอบรับรองของประเทศที่เป็นเอกภาพ ในการนี้จึงได้ผลักดันและสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง “สถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาลแห่งประเทศไทย” ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสนับสนุนให้ทำหน้าที่ในการดำเนินงานการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ทั้งนี้ได้มีแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาอิสลาม นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่าง ๆ เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๖ กับมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันฯ รองผู้อำนวยการ และเจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพและความพร้อมในการสร้างสรรค์ผลงานให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดขึ้น เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๗

 

           จากนั้นได้มีการดำเนินงานเพื่อการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวกับอาหารฮาลาลเรื่อยมา จนสามารถประกาศใช้มาตรฐานอาหารฮาลาล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเป็นประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เรื่อง อาหารฮาลาล ไว้เป็นมาตรฐานสมัครใจ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนพิเศษ ๗๘ ง. ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐

 

           หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ กอท. ได้ออกระเบียบว่าด้วยการดำเนินกิจการฮาลาล เพื่อกำหนดมาตรการและวิธีการตรวจสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ฮาลาล และการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลของ กอท.ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในระเบียบนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อสถาบันมาตรฐานอาหารฮาลาลเดิม ให้เป็น “สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย” (สมฮท.) นับตั้งแต่วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๒