ศูนย์มาตรฐานฮาลาล ม.รังสิต ต่อยอดธุรกิจ SME halal
สำนักข่าวอะลามี่ : มหาวิทยาลัยรังสิต ดึงคณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอาหาร และ คณะศิลปศาสตร์ โดยสถาบันวิทยาการอิสลามและอาหรับศึกษา ต่อยอดวิชาการสู่การจัดตั้ง ศูนย์มาตรฐานฮาลาล มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีองค์กรศาสนาร่วมผลักดัน หวังให้เป็นที่พึ่ง SME และผู้ประกอบการที่สนใจอุตสาหกรรมฮาลาล
ผศ.ดร.วิศรุต เลาะวิถี ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาการอิสลามและอาหรับศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากนโยบายของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ให้สถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันให้บริการทางวิชาการกับสังคม ด้วยการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร อิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ ระดับปริญญาตรีเป็นหลัก และมีพันธกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์ศึกษากิจการฮาลาล ศูนย์ศึกษาวิทยาการอิสลาม ศูนย์ศึกษาโลกมุสลิม และศูนย์อาหรับศึกษาและวิเทศสัมพันธ์
โดยทั้ง 4 ศูนย์ เป็นศูนย์เพื่อการให้ความรู้ในเชิงวิชาการกับบุคลากรภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรสถาบันต่างๆ ที่ต้องการข้อมูลเหล่านี้ เพราะเรามีศูนย์ศึกษากิจการฮาลาล ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับฮาลาลแก่ผู้ประกอบการ สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องฮาลาล และการขอเครื่องหมายฮาลาลจากองค์กรศาสนา
ทั้งนี้ศูนย์มาตฐานอาลาล มหาวิทยาลัยรังสิต จะทำงานร่วมกับสถาบัน เนื่องจากเรื่องของฮาลาล จะต้องอาศัยองค์ความรู้เรื่องราวของอิสลามเป็นสำคัญ ดังนั้นสถาบัน จึงทำหน้าที่ในการให้ความรู้ ให้คำแนะนำกับทางมหาวิทยาลัยในเรื่องการบริหารจัดการมาตรฐานฮาลาล ซึ่งต้องจะต้องสอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม
ศูนย์มาตรฐานฮาลาล มหาวิทยาลัยรังสิต จะใช้ห้องแลปหรือห้องปฏิบัติการทางวิทยาศสาสตร์ โดยทำงานร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีอาหาร ในการใช้นักวิทยาศาสตร์ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ ส่วนเรื่องของหลักการอิสลาม ในเรื่องของความสะอาด หลักการฮาลาล-ฮารอม เป็นหน้าที่ของสถาบันฯ ในการให้ความรู้และความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
“ ท่านอธิการบดี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ มองถึงอนาคต โดยเฉพาะประเทศไทยเราเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ขณะเดียวกัน เราก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาหรับหรือกลุ่มประเทศโลกมุสลิมมากขึ้น ดังนั้น การผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลก็มากขึ้นเช่นกัน ”
ผศ.ดร.วิศรุต กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมองเห็นว่าศูนย์มาตรฐานฮาล มหาวิทยาลัยรังสิต น่าจะเป็นอีกมิติหนึ่งของมหาวิทยาลัย ในการให้บริการทางวิชาการให้กับสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม หรือ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรทางศาสนา โดยจะเป็นแหล่งตรวจสอบสิ่งเจือปนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นการให้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่สังคมหรือประชาคมมากขึ้น
อีกมิติหนึ่ง ศูนย์มาตรฐานฮาลาล มหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากจะมีบุคลากรสำคัญ ภายในมหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารศูนย์ ฯ แล้ว ยังมีผู้แทนองค์กรศาสนา เช่น เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และประธานหรือผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปทุมธานี อยุธยา และนนทบุรี ซึ่งบุคคลเหล่านี้ น่าจะเป็นบุคลากรสำคัญ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับศูนย์มาตรฐานฮาลาลได้เป็นอย่างดี
“ อย่างไรก็ตาม การเปิดศูนย์มาตรฐานฮาลาล น่าจะตอบโจทย์ได้ในอีกระดับหนึ่ง เนื่องเพราะในพื้นที่โดยรอบ เช่น ปทุมธานี นับว่าเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอันดับสาม ของจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยอันดับแรกกรุงเทพมหานคร รองลงมาคือสมุทรปราการ และจังหวัดปทุมธานี ” ผศ.ดร.วิศรุต กล่าว.
ด้าน อาจารย์สมัย เจริญช่าง ในฐานะเป็นประธานศูนย์มาตรฐานฮาลาล มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากแนวคิดของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตที่ต้องการพัฒนาการศึกษาด้านนวัตกรรม เช่น นักการทูต นักบิน นักดนตรี ระยะหลัง เรื่องของรถไฟฟ้าความเร็วสูง ช่างซ่อมเครื่องมือ แพทย์ซึ่งท่านคิดว่า การศึกษาคือนวัตกรรมรองรับการเปลี่ยนของสังคมสู่ยุคดิจิตอล
โดยเฉพาะประเทศไทย มีพื้นฐานอาชีพเป็นเกษตรกรรม ปัจจุบันเราเป็นประเทศส่งออกสินค้าภาคเกษตร และอาหาร เป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากบราซิล อเมริกา จีน อินเดีย และไทย เป็นอันดับ 5 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารฮาลาล โดยเฉพาะ เรื่องวิทยาศาสตร์ฮาลาล จะเข้ามามีบทบาทในสังคมผู้บริโภค และจะมีบทบาทในสังคมมุสลิมสูงมากขึ้น
“ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม ในด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยีอาหาร และด้านอิสลามศึกษา ท่านอธิการบดี จึงคิดว่าน่าจะได้เปิดสอนในสาขาใหม่เพื่อผลิตบัณฑิตที่จะออกไปรับใช้สังคมในสาขานักวิทยาศาสตร์ฮาลาล ถือเป็นการต่อยอดจากวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นพันธกิจ 1 ใน 5 เพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์ ฮาลาล หลักสูตร 4 ปี ”
อาจารย์สมัย กล่าวถึงบทบาทของศูนย์มาตรฐานฮาลาล มหาวิทยาลัยรังสิต ว่า เรากำหนดพันธกิจไว้ 5 ด้าน โดยเริ่มจาก 1 จัดการเรียนการสอน 2 เป็นที่ปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป คนรุ่นใหม่ ซึ่งปัจจุบันไม่จำเป็นต้องไปซื้อที่ดินหรือเครื่องจักร เพราะตอนนี้มีการรับผลิตแบบ OEM จำนวนมาก
พันธกิจที่ 3 เปิดอบรมระยะสั้นกับสถานประกอบการ และผู้ที่สนใจ 4 การกำหนดมาตรฐานของห้องแลป โดยนำคณาจารย์ไปดูงานที่ศูนย์สถาบันอาหาร เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และ พันธกิจที่ 5 คือการรับตรวจจากสถานประกอบการ และองค์กรศาสนาที่ส่งมาให้เราตรวจ หรือร้องขอให้เราตรวจ โดยเรามีนโยบายว่า เราจะไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับองกรศาสนา ทั้งหมดคือ 5 พันธกิจของเรา
ทั้งนี้เพื่อให้ศูนย์มาตรฐานฮาลาล มหาวิทยาลัยรังสิต มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งเราได้ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น โดยคณะกรรมการ ของศูนย์มาตรฐานฮาลาล เราเชิญมาเป็นที่ปรึกษาจาก 3 หน่วยงาน หน่วยงานแรกคือ มกอช. ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันอาหารของกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 4 จังหวัดๆ ละ 1 ท่าน มาเป็นกรรมการศูนย์มาตรฐานฮาลาล มหาวิทยาลัยรังสิต