สถาบันฮาลาล มอ. จับมือ 4 องค์กร เสริมศักยภาพฮาลาลภาคใต้
สำนักข่าวอะลามี่: สถาบันฮาลาล มอ. ต่อยอดเวทีสัมมนา และงาน HAPEX 2017 ด้วยการเตรียมลงนามความร่วมมือ 4 องค์กร ทั้งการการเงิน องค์กรศาสนา กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และกลุ่มมุสลีมะห์ เสริมศักยภาพฮาลาลภาคใต้ สู่เป็นฐานผลิตพร้อมผลักดัน นำเงินซากาตนำสู่การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs หวังให้แข่งขันการตลาดสู่การเป็นผู้ส่งออก
ดร.ธวัช นุ้ยผอม ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาล และพัฒนาการของการจัดงานฮาลาล ในขณะนี้ว่า การจัดงาน HAPEX 2017 เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยส่วนตัวมองเห็นการเปลี่ยนแปลง 2-3 รูปแบบ ในเชิงองคาพยพและการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในส่วนของเรื่องการเงินอิสลาม
“ เมื่อก่อนการเงินอิสลาม ไม่ได้เป็นคลัสเตอร์ และไม่มีการส่งเสริมมากนัก อย่างไรก็ตามมองว่าวันนี้การเงินอิสลาม จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันฮาลาลทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของด้านการผลิต”
ทั้งนี้สถาบันฮาลาลฯ เตรียมที่จะผลักดันร่วมกับสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามภาคใต้ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เรื่องของการผลักดันซากาต ให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งนี้ผู้ที่เป็นผู้ประกอบการจะมีสหกรณ์อิสลาม ก็จะเข้าไปช่วยในเรื่องของแหล่งทุน หรือเรื่องต่างๆ ส่วนผู้ที่ไม่มีความสามารถ ก็จะได้รับในเรื่องของซากาต ในการสนับสนุนกิจการหรือธุรกิจได้
“ เราจะต้องผลักดัน 2 เรื่องนี้ ให้เดินไปด้วยกัน นี่คือองคืประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนหลังจากการสัมมนา Hapex 2017 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา “
ดร.ธวัช กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นต่อมา คือ เราจะมองในเรื่องของคุณภาพมีการร่วมมือกับกลุ่มของการท่องเที่ยว และกลุ่มมุสลิมะฮ์ กลุ่มของการเงินอิสลาม สหกรณ์อิสลาม กลุ่มในส่วนของต่างประเทศด้วย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ มีเน็ตเวิร์คกิ้ง รับไม้ ส่งไม้ ต่อยอดซึ่งกันและกัน และเน็ตเวิร์คของกลุ่มเหล่านี้มีความสำคัญ และมีการต่อยอดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผมคิดว่าพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการสัมมนาจะมีการลงนามความร่วมมือตามมาเพื่อให้เกิดรูปธรรมอย่าง โดยมีองค์กรต่างๆที่จะร่วมลงนามประกอบด้วย ชุมนุมเครือข่ายสหกรณ์อิสลาม แห่งประเทศไทย สมาพันธ์คณะกรรมอิสลาม 15 จังหวัดภาคใต้ (บวก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ )นอกจากนี้ยังมี สมาพันธ์สมาคมการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน รวมอยู่ในการลงนามในครั้งนี้ด้วย
ดร.ธวัช กล่าวว่า สถาบันฮาลาล มีเป้าหมายสำคัญคือในการจะส่งเสริมให้ภาคใต้เป็นแหล่งการผลิต มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการที่ฮาลาล โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน ซึ่งในอนาคตจะเกิดความร่วมมือทางการเงินอิสลาม เพื่อเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถแข่งขันทางการตลาดและส่งออกต่างประเทศได้.