ปั้นเชฟฮาลาล ป้อนตลาดโลก ผ่าน “ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ”
++ เผยสถิติคนไทย 39 ล้านคน ในวัยทำงาน ในจำนวนนี้พบว่า 27 ล้านคน มีประสบการณ์ แต่ขาดคุณวุฒิ
++++++++++++++
สำนักข่าวอะลามี่ : สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ TPQI เร่งปั้นอาชีพคนไทย สู่ความเป็นมาตรฐานทางวิชาชีพ หลังพบว่า คนไทยอยู่ในวัยแรงงานกว่า 39 ล้านคน และพบว่าแรงงานที่มีประสบการณ์การทำงาน แต่ขาดคุณวุฒิกว่า 27 ล้านคน เผย “อาชีพเชฟฮาลาล” เป็นที่ต้องการของตลาดโลก
ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ TPQI กล่าวถึงแนวคิดในการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพว่า เป็นสถาบันที่ให้การรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะทางด้านวิชาชีพ โดยกำหนดระดับสมรรถนะของบุคคลให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับคนไทยที่อยู่ในภาคของการทำงานประมาณ 39 ล้านคน แต่พบว่าในจำนวนนี้คนที่มีคุณวุฒิการศึกษา ตั้งแต่ ระดับ ปวช.,ปวส.,อนุปริญา ปริญาตรี –ปริญญาเอก ที่มีคุณวุฒิทางด้านการประกอบวิชาชีพมี 12 ล้านคนเท่านั้น
ส่วนที่เหลืออีกกว่า 27 ล้านคน เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และทำงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปีหรือ 10-30 ปี แต่ไม่มีอะไรไปการันตี หรือไปรับรองความสามารถของบุคลากรเหล่านั้น ทำให้บุคคลากรเหล่านั้น อาจจะไม่ได้รับอานิสงค์ของวิชาชีพ และความสามารถของตัวเอง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ดังกล่าว
นอกจากนี้การที่ประเทศไทย จะต้องเพิ่มศักยภาพในการที่จะต้องสู้หรือแข่งขันกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียน และในระดับสากล ที่ผ่านเรามายังไม่มีมาตรฐาน “ อันดับแรกจะต้องสร้างมาตรฐานวิชาชีพของคนไทย ต้องเป็นมาตรฐานและให้เป็นบริบทของประเทศไทย ในภาคการทำงานของอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในขณะเดียวกัน จำเป็นที่จะต้องมีมาตรฐาน และสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ด้วย ”
ดร.นพดล กล่าวว่า เราจะส่งเสริมสนับสนุนทุกอาชีพ ยกเว้นอาชีพที่มี พรบ.รับรอง ที่มีใบประกอบวิชาชีพอยู่แล้ว“ คนที่จะเข้ามาสู่สถาบันสามารถเข้ามาได้ทุกอาชีพ เรามีมาตรฐาน มีการเสริมสร้างความรู้ สร้างทักษะ ประเมินสมรรถนะ หรือผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงาน มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน ทั้งนี้สามารถมาทดสอบวิชาชีพของตนได้ หลังจากการทดสอบผ่าน จะได้ใบรับรองมาตรฐานความรู้ความสามารถจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อนำไปเป็นเครื่องยืนยันว่า เราเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ หรือ สมรรถภาพ อยู่ในระดับไหน”
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นองค์กรจัดตั้งโดยรัฐบาล ในรูปขององค์กรมหาชน มีบทบาทและมีหน้าที่มีอำนาจ ในการที่จะประสานต่อให้กับหน่วยงานวิชาชีพทุกแขนง เนื่องจากสถาบันฯ เป็นหน่วยงานของภาครัฐ ทั้งนี้ใครที่สนใจในวิชาชีพ สามารถเข้ามาสู่กระบวนการ โดยการขึ้นทะเบียนทดสอบ หรือประเมินบุคลากร ทั้งนี้ผู้ผ่านการประเมินจะได้รับใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นการการันตี
ปัจจุบันเรามีองค์กรรับรอง 125 องค์กร ทั่วประเทศ ใครที่อยู่ใกล้ที่ไหน ก็สามารถไปติดต่อที่หน่วยงานที่นั่นได้เลย ระยะเวลาของการสอบ และการประเมิน 1-2 วัน ทั้งนี้ผู้ที่ขอเข้าประเมินจะสามารถวัดความสามารถของตนเองว่า เรามีความรู้ในวิชาชีพนั้นๆ ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาตัวเองสู่ความเป็นมาตรฐานวิชาชีพ การประเมิณจะต้องประเมินตามมาตรฐานบนประสบการณ์ที่มีการเรียนรู้มาหลายปี และตกผลึกในการทำงาน เราเปิดเผยมาตรฐานอยู่แล้วหรือไปดูได้ทางเวปไซด์ www.tpqi.go.th
อย่างไรก็ตาม อาชีพที่เราให้ความสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ “ เชฟฮาลาล” ถือเป็นหนึ่งในวิชาชีพของคนไทย ที่มีความสามารถด้านการประกอบอาหาร ทั้งนี้ “เชฟฮาลาล” สามารถเป็นเชฟได้อย่างมีมาตรฐาน และสามารถเพิ่มความก้าวหน้าให้กับวิชีพนี้
“ ปัจจุบัน อาชีพเชฟฮาลาล ยังไม่มีการรับรองความสามารถเฉพาะทาง ทั้งนี้ผู้อยู่ในวิชาชีพเชฟฮาลาล ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้นหากผ่านการทดสอบ และได้ใบรับรองจะเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ ทั้งในประเทศและไปยังต่างประเทศได้ ”
รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวย้ำว่า สำหรับวิชาชีพด้านนี้เป็นตลาดที่น่าสนใจ มีความต้องการไปทั่วโลก ตลาดขยายตัวมาก ทั้งนี้หากเราไม่เห็นความสำคัญในจุดนี้ และนำใบรับรองนี้ไปเป็นเครื่องมือในการประกอบวิชาชีพ ถ้าเราชักช้าหรือไม่ให้ความสำคัญ อาจจะทำให้ประเทศไทยไม่ได้รับโอกาสนี้ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจแต่ไม่ได้ฉวยโอกาส
อย่างไรก็ตามสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเปิดให้บริการจนถึงวันนี้รวมระยะเวลา 4 ปี ประชาชนยังไม่รู้จักเรามากนัก โดยที่ผ่านมา เราทำงานไปคู่ขนาน 2-3 เรื่อง เรื่องแรก การจัดการมาตรฐานอาชีพของคนไทย ที่เราศึกษาว่า ประมาณ 600 กว่าอาชีพ โดยในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เราศึกษาอาชีพของคนไทยประมาณ 445 อาชีพ ถือว่าไปเกินครึ่ง
ในขณะเดียวกันเรา ได้ขึ้นทะเบียนรับรองกับหน่วยงานต่างๆ ไปจำนวน 125 องค์กรทั่วประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่างๆ เพื่อมีส่วนร่วมในการดำเนินการประเมินบุคลากรในสาขาวิชาชีพและองค์กรต่างๆ โดยคาดว่า ในปี 2563 เราจะสามารถทำการประเมินวิชาชีพได้ในหลักแสนราย.