มาทำความรู้จัก IAM
“ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบกลับด้าน มองของเสียให้เป็นโอกาส ” ธงรบ ด่านอำไพ
+++++++++++++++++++++++++
สำนักข่าวอะลามี่: IAM เป็นคำย่อของบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100 % ชื่อเต็มๆ ก็คือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (Islamic Bank Asset Management Ltd. : IAM)
บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (Islamic Bank Asset Management Ltd. : IAM) จัดตั้งขึ้นตามมติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2559 และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยบริษัทจำกัด ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2559 มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกระทรวงการคลัง ถือหุ้นทั้งหมดใน IAM อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลัง และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานกำกับดูแล
โดย IAM ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาเฉพาะธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) รับโอนหนี้ด้อยคุณภาพ (Non-Performing Financing : NPF) ในส่วนลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิม รวมถึงหลักประกันของสินทรัพย์จาก ธอท. และนำไปบริหารหรือจำหน่ายเท่านั้น ตลอดจนดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยสรุปก็คือ IAM จะบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่รับโอนมาจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มูลค่าจำนวน โดยประมาณ 49,000 ล้านบาท โดย IAM มีภารกิจบริหารจัดการ เรียกเก็บหนี้ ด้วยมาตรการทางกฎหมาย การดำเนินคดี บังคับคดี เจรจาแก้ไขหนี้ต่างๆ และ การบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ .
บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (Islamic Bank Asset Management Ltd. : IAM)” ได้ก่อตั้งมานานกว่า 1 ปี 7 เดือน และได้สรรหาผู้จัดการบริษัท เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 และมีการลงนามในสัญญาจ้างผู้จัดการในวันดังกล่าว
ทันที่ที่การประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติแต่งตั้ง ผู้จัดการบริษัท IAM คนใหม่ ก็ได้เริ่มต้นทำงานทันทีนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2561 โดยผู้จัดการ IAM คนนี้ก็คือ นายธงรบ ด่านอำไพ
นายธงรบ ด่านอำไพ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) ปริญญาโท พานิชยศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตยไทย (นบท.) เนติบัณฑิตยสภา
ธงรบ เคยเป็นอดีตกรรมการและรักษาการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยและ อดีตประธานกรรมการบริหาร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
นายธงรบ กล่าวถึงแนวทางในการบริหารสินทรัพย์ เป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแบบกลับด้าน คือ มองของเสียให้เป็นโอกาส และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตได้รวดเร็วกว่าการเริ่มต้นส่งเสริมนักธุรกิจ start up การเข้าใจฟื้นฟูลูกหนี้ ให้กลับมาทำธุรกิจใหม่ด้วยอาศัยประสบการณ์และความผิดพลาดในอดีต เป็นต้นทุนมนุษย์ที่ไม่ควรมองข้ามในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
“ IAM มีภารกิจเร่งด่วนที่สุด ก็คือ การ set up บริษัท ให้เรียบร้อยและรวดเร็วที่สุด ต้องสร้างบริษัทใหม่ขึ้นมา ปัจจุบันเราไม่มีสถานที่ทำการ พัสดุครุภัณฑ์ มีบุคลากรเพียง 10 กว่าคน และต้องดำเนินกิจการอย่างครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เพื่อให้เป็นรัฐวิสาหกิจ และ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ต้องทำกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ใหม่ทั้งหมด “
นายธงรบ กล่าวว่า โดยเฉพาะระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐ ระเบียบการพนักงานรัฐวิสาหกิจ เกณฑ์การประนอมหนี้ การดำเนินคดี การบังคับคดี การจัดองค์กร กำหนดยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของสินทรัพย์แต่ละรายการ ซึ่งเน้นใช้ผู้มีประสบการณ์สูง และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ทำงานให้เกิดผลได้ทันที
“ สำหรับ IAM มีสินทรัพย์กว่า 49,000 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้กว่า 28,000 ราย ครึ่งหนึ่งโดยประมาณอยู่ระหว่างดำเนินคดี และบังคับคดี “
สำหรับลูกค้ารายใหญ่ที่มีสินทรัพย์เกินกว่ายี่สิบล้านบาท มีเพียงไม่เกิน 200 ราย และมีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาท สำหรับลูกค้ารายย่อยที่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท มีจำนวนรายมากกว่า 28,000 ราย ลูกค้าที่มีหลักประกันส่วนใหญ่จะมีมูลค่าหลักประกันที่คุ้มหนี้ สำหรับรายย่อย ส่วนใหญ่คือ ไม่มีหลักประกัน
“ ผมจะทำให้ IAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ต้นแบบ และพัฒนาไปสู่องค์กรบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งระบบของรัฐวิสาหกิจ หรือ บริษัทบริหารสินทรัพย์รัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ในอนาคต ซึ่งเชื่อว่า สินทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือหนี้สิน ที่ทุกรัฐวิสาหกิจมีอยู่รวมกันในขณะนี้มีมากกว่าหนึ่งล้านล้านบาท และอาจทยอยขาดอายุความฟ้องร้องหรือขาดการดูแลการสืบทรัพย์ บังคับคดี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ หรือ โอกาสที่จะได้รับเงินคืนในเวลาอันสมควร ” นายธงรบ กล่าว