Islamic Economic
Home   /   Islamic Economic  /   อัศศิดดีก:จากสถาบันการเงินอิสลาม สู่ ธุรกิจบริการสังคม

อัศศิดดีก:จากสถาบันการเงินอิสลาม สู่ ธุรกิจบริการสังคม

+++++++++++++++++

          สำนักข่าวอะลามี่: การก่อเกิดสถาบันการเงินอิสลามมากว่า 20 ปีอัศศิดดีกได้กลายเป็นสถาบันการเงินอิสลามในรูปแบบสหกรณ์อิสลามแห่งนี้ให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสหกรณ์อิสลามต้นแบบ สามารถสร้างคุณค่า และ มูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล


          สมาน โอราวัฒน์ ผู้จัดการใหญ่สหกรณ์อิสลามอัศศิดดีก จำกัด กล่าวถึงบทบาทการทำงานของสหกรณ์ และการลงทุนของระบบการเงินอิสลามว่า การดำเนินการของสหกรณ์อิสลาม นอกจากจะเป็นกิจกรรมการแสวงหารายได้จากการลงทุน เพื่อนำผลกำไรมาแบ่งปันกับสมาชิกในฐานะเจ้าของสหกรณ์แล้ว จำนวนเงินส่วนหนึ่งที่แบ่งจากผลกำไร ยังถูกนำไปจัดสรรเป็นสวัสดิการให้แก่พี่น้องสมาชิก ตลอดจนคณะกรรมการดำเนินการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์

         จากการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกนั้น ถือเป็นการคืนกำไรรูปหนึ่งกลับสู่มวลสมาชิกทางตรง นั่นคือในแต่ละปีเมื่อสมาชิกมีเหตุเกิดขึ้นสอดคล้องตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของสวัสดิการที่ทางสหกรณ์จัดไว้ให้ สมาชิกก็สามารถนำหลักฐานมาเบิกจ่ายเพื่อขอรับสวัสดิการต่างๆได้ อาทิ สวัสดิการคลอดบุตร สวัสดิการสมทบค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการทุนการศึกษาสมาชิกและทายาท และสวัสดิการเงินทดแทนสมาชิกถึงแก่กรรม เป็นต้น

         สมาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรากำลังวางแผนออกสวัสดิการเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมตามความต้องการของมวลสมาชิก เช่น สวัสดิการสมรส สวัสดิการทดแทนคุณสมาชิกอาวุโส โดยจ่ายสวัสดิการตอบแทนเป็นเงินซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะกำหนดวงเงินจำนวนเท่าใด ฯลฯ

         นอกจากนี้ทางสหกรณ์ยังได้จัดตั้ง “กองทุนตะกาฟุลอัศศิดดีก” ขึ้นอีกกองทุนหนึ่ง เพื่อมุ่งสร้างระบบสวัสดิการแก่สมาชิกและผู้สนใจทั่วไปในการสร้างสวัสดิการให้แก่ตนเอง ด้วยการให้สมาชิกช่วยกันจ่ายเงินสมทบภาคสมัครใจเดือนละ 90 บาทต่อคน โดยทางสหกรณ์จะจัดสวัสดิการเพิ่มเติมให้อีก ซึ่งครอบคลุมเรื่องการเกิด เจ็บป่วย/อุบัติเหตุคลอดบุตร ประสบภัยพิบัติและอื่นๆ

         “สวัสดิการ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราให้ความสำคัญให้กับสมาชิกและเจ้าหน้าที่ เป็นเงินรายได้ของสหกรณ์ที่มุ่งคืนกำไรสู่สังคม ทั้งทางตรงแล้วทางอ้อม

          นอกจากนี้ยังนำผลกำไรของสหกรณ์ไปจัดสรรเป็นทุนสาธารณประโยชน์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กิจกรรมของโรงเรียน มัสยิด สมาคม หรือชมรมต่างๆนอกจากนี้ทางสหกรณ์ยังได้มีการจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้แก่บุตรหลานของสมาชิกในสถานศึกษาต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสังคมอีกด้วย

          สมาน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางสหกรณ์ยังได้จัดตั้ง “มูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาสังคมขึ้น เพื่อบริหารจัดการเงินกองทุนซะกาต ซึ่งเป็นผลกำไรที่ได้รับการจัดสรรจากการดำเนินงานของสหกรณ์ตลอดจนนำซะกาตไปแจกจ่ายให้ผู้มีสิทธิ์ได้รับตามหลักการอิสลาม เพื่อสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

         “  มูลนิธิฯ นี้เราได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งมูลนิธิ ถือเป็นหนึ่งในกลไกของการทำงานในฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของสหกรณ์เพื่อให้เงินซึ่งเป็นผลกำไรของสหกรณ์ถูกนำกลับคืนสู่สังคม ก่อเกิดคุณประโยชน์แก่สังคมที่แท้จริง ผลของซะกาตทำให้เกิดการลดช่องว่างทางสังคม “

 
หาดใหญ่วิทยาคารสร้างคนแบบบูรณาการอิสลาม

           อีกบทบาทสำคัญของสหกรณ์ประการหนึ่ง คือ ภารกิจการสร้างคนดีสู่สังคม ด้วยแนวคิดการจัดตั้งโรงเรียนเปิดสอนหลักสูตรสามัญบูรณาการอิสลาม สหกรณ์เป็นเจ้าของร่วมกับสมาชิกทุกคน บนเนื้อที่มากกว่า 20 ไร่ เส้นทางไปสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมีการพัฒนาและลงทุนอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันนี้รวมเวลากว่า 10 ปี

         “ สำหรับที่ดินรอบบริเวณที่ตั้งโรงเรียน ทางสหกรณ์ได้นำมาพัฒนาเป็นที่ดินจัดสรรเพื่อขายให้แก่สมาชิกและผู้สนใจ โดยใช้แนวคิดมุ่งพัฒนาให้เป็นชุมชนมุสลิมต้นแบบ มีการวางผังชุมชน มีมัสยิดภายในชุมชน เป็นที่ตั้งของมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาสังคม ศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้าและด้อยโอกาส ซึ่งรายได้จากการขายที่ดินจัดสรรดังกล่าว ทางสหกรณ์นำมาก่อสร้างและจัดตั้งเป็นโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร สำหรับงบประมาณในการดำเนินการเพื่อสถานศึกษาแห่งนี้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่า 70 ล้านบาท สมาน กล่าว

           ด้าน อ.ซุฟยาน ยุนุ ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร ได้กล่าวถึงแนวคิดในการจัดตั้งโรงเรียน สืบเนื่องจากทางสหกรณ์เล็งเห็นว่ารูปแบบการจัดการศึกษาที่ผ่านมาทั้ง 3 รูปแบบคือ ระบบสามัญทั่วไป โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญ และระบบปอเนาะ ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร จึงมีแนวคิดจัดตั้ง โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร ให้เป็นโรงเรียนสามัญบูรณาการอิสลาม

           “ สำหรับหลักสูตรที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เนื้อหาการจัดการศึกษาเป็นไปตามหลักสูตรที่ทางกระทรวงศึกษาธิการกำหนดทุกประการ เพียงแต่ทางโรงเรียนได้นำหลักสูตรบูรณาการอิสลามเข้ามาเสริม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจศาสตร์ที่เป็นไปตามหลักการอิสลามแก่ผู้เรียน ถือเป็นเสริมสร้างองค์ความรู้ที่ยึดโยงกับอิสลามซึ่งเป็นวิถีชีวิตแห่งสากลโลก

           สำหรับรูปแบบของระบบสามัญบูรณาการอิสลาม จะมีการคิดวิเคราะห์หลักสูตรเพิ่มเติม ประกอบด้วย การวิเคราะห์เนื้อหาหลักสูตร เพื่อพิจารณาว่าวิชาใดที่มีเนื้อหาสอดคล้องตามแนวทางของหลักการอิสลามแล้ว หรือวิชาใดที่ยังไม่สอดคล้อง หากว่าเนื้อหาวิชาเรียนส่วนใดที่สอดคล้องตามหลักการอิสลามแล้ว ทางโรงเรียนก็จะนำองค์ความรู้หลักการอิสลามเข้ามาบูรณาการเติมเต็มและพัฒนาให้เกิดเข้าใจอย่างถ่องแท้มากขึ้น

             ในทางกลับกันรายวิชาไหนที่มีเนื้อหาไม่ สอดคล้องก็จะหาแนวทางร่วมกันว่าอิสลามมีทางออกอย่างไร สำหรับวิชาการด้านวิทยาศาสตร์นั้นทางโรงเรียนได้นำองค์ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน หะดีษ หรือ เหล่าทัศนะนักวิชาการอิสลามมาตอบโจทย์ในการจัดการเรียนการสอน

            นายซุฟยาน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคารเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย สำหรับหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย 4 โปรแกรม คือ โปรแกรมคณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์, โปรแกรมวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์, โปรแกรมตะหฺฟิสไซนซ์ (ท่องจ าอัลกุรอาน-วิทยาศาสตร์) และ โปรแกรมวิทยาศาสตร์ทั่วไป ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลายประกอบด้วยโปรแกรมวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ และโปรแกรมศิลป์-ภาษา

             “ ปัจจุบันมีนักเรียนในการดูแลทั้งชายและหญิง รวมทั้งสิ้น 520 คน บริหารจัดการในรูปแบบโรงเรียนประจำซึ่งนักเรียนที่อยู่ในความดูแลจะดำเนินตามรูปแบบอิสลามเป็นวิถีชีวิต อ.ซุฟยาน กล่าว