INKA INDUSTRY จากอินโดฯ
สนใจขอลงทุนรถไฟรางคู่ในไทย
สำนักข่าวอะลามี่: INKA INDUSTRY KERETA รัฐวิสาหกิจรถไฟอินโดนีเซีย ขอโอกาสไทย ลงทุนรถไฟรางคู่ ทั้งระบบ ตั้งแต่ หัวรถจักร-โบกี้-ศูนย์อะไหล่-ศูนย์ซ่อม มั่นใจมาตรฐานระดับโลก พร้อมเจรจาทุกเงื่อนไขรวมทั้ง “แลกข้าว”
วันนี้ (10 พ.ค.) คณะผู้บริหาร การรถไฟอินโดนีเชีย หรือ อินคาอุตสาหกรรมหัวรถจักร (INKA INDUSTRY KERETA API) รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตหัวรถจักและตู้โบกี้ของอินโดนีเชีย ได้เข้าพบผู้บริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เพื่อหารือในความร่วมมือในโครงการรถไฟรางคู่ที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่
ดร.ธนนท ธัญพงศ์ไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทธนากรบางกอก จำกัด(อินคาไทยแลนด์) ในฐานะ ตัวแทนอินคาในประเทศไทย เปิดเผยว่า อินคาอุตสาหกรรมหัวรถจักร สนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟรางคู่ในประเทศไทย ซึ่งอินคา ของอินโดนีเซีย มีศักยภาพในการ สร้างหัวรถจักร ตู้โบกี้ ตลอดจนอะไหล่ ทั้งหมด พร้อมจะเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานในประเทศไทยทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาค
INKA INDUSTRY KERETA เป็นรัฐวิสาหกิจของอินโดนนีเชีย ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1981 โดยใช้เทคโนโลยีของบริษัท บอมเบอร์เดีย ของแคนาดา มีมาตรฐานระดับโลกที่ผ่านมาผลิตหัวรถจักรและโบกี้ ให้กับอินโดนีเชียส่งออกให้กับอีกหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย บังคลาเทศ อินเดีย และแอฟริกาใต้ เป็นต้น
"INKA ต้องการเข้ามาร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการจัดหาหัวรถจักรและการบริหารถไฟรางคู่ ซึ่งการรถไฟฯ กำลังปรับปรุงทีโออาร์เพื่อจัดซื้อหัวรถจักร 50 หัว และเช่า 100 หัวรถจักร มูลค่า 6,240 ล้านบาท ซึ่งทาง INKA สามารถเข้าร่วมได้ในราคากลางต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ 124 ล้านบาท และพร้อมให้เช่ารถจักรตามเงื่อนไข รวมทั้งจะเข้ามาก่อสร้างศูนย์ซ่อมรถไฟในประเทศไทย เพื่อให้บริการหลังการขายให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการจัดหาอะไหล่" ดร. ธนนท กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทตัวแทนอินคา กล่าวว่า อินคาจะเข้าร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะตัดปัญหานายหน้าหรือคนกลางออกไป ช่วยประหยัดงบประมาณ ซึ่งทางอินโดนีเชียพร้อมจะเจรจาทุกเงื่อนไข อาทิ การแลกเปลี่ยนกับข้าวจากไทย หรือสินค้าอย่างอื่นหากประเทศไทยต้องการ ซึ่งการใช้หัวรถจักรจากอินโดนีเชีย จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาเซียนแนบแน่นยิ่งขึ้น
"อินโดนีเชีย พร้อมให้การสนับสนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางของอาเซียน โดยจะเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตหัวรถจักและศูนย์ซ่อม เพื่อบริการประเทศในภูมิภาค อาทิ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่กำลังมีการเจรจาในอนาคต ต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนประเทศในอาเซียน ไม่เพียงได้สินค้าที่ได้มาตรฐานและมีเงื่อนไขไม่มากแล้ว ยังจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในฐานะประเทศอาเซียนด้วยกันด้วย" เขา กล่าวในที่สุด
หลังจากนี้ ในวันที่ 11 พฤษภาคม รัฐมนตรีรัฐวิสาหกิจ และ เลขานุการประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มีกำหนดเดินทางมาไทย เพื่อขอโอกาสเข้าพบ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต่อไป