เสน่ห์วัฒนธรรม-เสน่ห์ท่องเที่ยว
“เกสร กำเหนิดเพ็ชร”
บนภารกิจ และ มิติใหม่ของวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่
โดย : วรัญญา พุ่มเพ็ชร
สำนักข่าวอะลามี่: บทบาทของกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะผู้กำกับนโยบายลงสู่ผู้ปฎิบัติอย่างวัฒนธรรมจังหวัด ในวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เรามาทำความรู้จักกับบทบาทและหน้าที่ตลอดจนภาพการเปลี่ยนแปลงผ่านมุมมอง“ คุณเกสร กำเหนิดเพ็ชร” วัฒนธรรมจังหวัดกระบี่
“ กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเดิมเป็นกระทรวงที่เน้นบทบาทด้านสังคมเพียงด้านเดียวนั้น แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการปรับบทบาทภารกิจเป็นกระทรวงด้านสังคมกึ่งเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นบทบาทในส่วนของวัฒนธรรมจังหวัดในระดับพื้นที่ นอกจากจะส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทยแล้ว ยังจะมีอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญคือ การนำคุณค่าทางวัฒนธรรม มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น ”
ด้วยศักยภาพและนโยบายจังหวัดกระบี่ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของวิถีการท่องเที่ยว ดังนั้นเราจะต้องขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับนโยบาย ด้วยเหตุนี้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ จะต้องขับเคลื่อนงานในพื้นที่จังหวัดในฐานะเป็นผู้แทนกรมต่างๆ อาทิ กรมศิลปากร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลมรดกทางด้านวัฒนธรรม ได้แก่แหล่งโบราณคดี โบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในพื้นที่ ส่วนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นเรื่องของการปลูกฝังค่านิยมไทย ศิลปะการแสดง มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตลอดจนความวิถีชีวิตวัฒนธรรม กรมการศาสนา ก็มีภารกิจหลักในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมให้ประชาชนนำหลักธรรม คุณธรรม ตามหลักศาสนามาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จะมีบทบาทในเรื่องของการต่อยอดภูมิปัญญาทางด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้างสรรค์มูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ นับเป็นภาระสำคัญอีกด้านหนึ่งเช่นเดียวกัน
“ ภายใต้ 4 กรมนี้ เราก็นำนโยบาย มาบูรณาการปฏิบัติในระดับพื้นที่ ผนวกกับนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนงานในพื้นที่ นั่นคือ ภารกิจหลักๆของสำนักงานภารกิจสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด” คุณเกษร กล่าวและว่า
วัฒนธรรมจึงไม่ใช่เป็นเพียงการรักษาไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมอย่างเดียว แต่วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เกิด จนตาย ซึ่งล้วนแต่จะต้องใช้และอาศัยวัฒนธรรมแทบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดกระบี่ หากจะเชื่อมโยงเรื่องของการท่องเที่ยว หน่วยงานวัฒนธรรมก็จะมีหน้าที่ตั้งแต่การสร้างสังคม สร้างทรัพยากรบุคคลในคุณลักษณะการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อรองรับการท่องเที่ยว
สำหรับในจังหวัดกระบี่นั้นมีมัสยิดกว่า 200 แห่ง ดังนั้นเพื่อเป็นการต่อยอดและการเตรียมพื้นที่เพื่อเป็นการเชื่อมโยงวิถีชีวิตมุสลิมสู่การท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจึงเปรียบเสมือนคนที่อยู่ข้างหลังคอยส่งเสริมสนับสนุน ความเข้มแข็งของชุมชนโดยใช้มิติทางศาสนา ภายใต้โครงการศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด โครงการส่งเสริมชุมชนวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และโครงการชุมชนส่งเสริมท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรม เป็นต้น
และด้วยวิถีชีวิตการดำเนินของคนกระบี่ ที่มีสัดส่วนการนับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ 40% กว่าๆ ส่วนที่นับถือศาสนาพุทธ ก็จะมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม เช่นวิถีไทยพุทธ วิถีไทยเชื้อสายจีน วิถีวัฒนธรรมกลุ่มพี่น้องชาวเล วิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวกระบี่จึงเป็นเสน่ห์ ไม่ด้อยไปกว่าเสน่ห์ด้านสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามเช่นกัน
คุณเกษร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ กับนโยบายของจังหวัดที่มีความพยายามที่จะให้เกิดการท่องเที่ยวแบบใหม่นั่นคือ ฮาลาลทัวริซึม ค่อนข้างโดดเด่น จึงเป็นบทบาทของวัฒนธรรมจังหวัดในการเข้าไปประสานกับองค์กรอื่นๆ สร้างแหล่งเรียนรู้และวิถีสังคมมุสลิม โดยเราจะให้ความรู้กับผู้นำศาสนาเพื่อการเป็นเจ้าบ้านที่ดี นอกจากจะเป็นศาสนสถานแล้วจะทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งพี่น้องชาวมุสลิมสามารถเข้าไปเที่ยวและประกอบศาสนากิจได้ทุกมัสยิด
นอกจากนี้อีกเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ วัฒนธรรมอาหาร กระบี่มีอาหารทะเลที่มีคุณภาพอยู่แล้ว แต่ด้วยการผ่านการปรุงที่ตามหลักการของศาสนา ทำให้ได้รับการรับรองงว่าเป็น “อาหารฮาลาล”ซึ่งนั่นเป็นอีกการสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั่วไปได้อีกระดับหนึ่ง เพราะ ฮาลาล ปัจจุบันคือมาตรฐานอย่างหนึ่งของชาวโลก
อีกทั้งวัฒนธรรมการแต่งกาย เช่น บะบา ยะหยา ก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดกระบี่และจังหวัดโดยรอบอันดามัน ที่เป็นเอกลักษณ์การแต่งตัวที่มีเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของจังหวัดกระบี่
“ ห้วงเวลาที่นับจากนี้ไปกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนเมืองกระบี่จะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นความจำเป็นที่จะต้องสร้างมูลค่าในมิติทางวัฒนธรรม ทั้งนี้จะเห็นว่าเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆหลายแห่งทั่วโลกเขาขายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” คุณเกษร กล่าวและว่า
วันนี้ภาพขององค์กรวัฒนธรรมกำลังเปลี่ยนแปลง โดยจะเปลี่ยนมุมมองใหม่ของเชิงวัฒนธรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเชิงวิถีมากขึ้น เพราะวัฒนธรรมคือเสน่ห์ ที่มีในตัวของมันเอง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเชิงการท่องเที่ยวได้ไม่รู้จบ
และนี่คือโอกาสของจังหวัดกระบี่