Business
Home   /   Business  /   รุสลันเซ็นเตอร์ ผู้นำธุรกิจฮัจย์ สู่ธุรกิจแฟชั่นมุสลิม

“ รุสลันเซ็นเตอร์ ” ผู้นำธุรกิจฮัจย์

 สู่ธุรกิจแฟชั่นมุสลิม เล็งขยายทัวร์ฮาลาลรับตลาด AEC

               สำนักข่าวอะลามี่ : กว่า 30 ปีที่คลุกคลีในแวดวงธุรกิจฮัจย์ และ อุมเราะห์ วันนี้ “อับดุลลาตีฟ สุขถาวร” ในฐานะผู้บริหารบริษัท รุสลันเซ็นเตอร์ จำกัด เตรียมต่อยอดธุรกิจทั้งธุรกิจแฟชั่นมุสลิม และนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ ล่าสุดเตรียมรุกตลาดทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ

            อับดุลลาตีฟ สุขถาวร หรือ ที่หลายคนรู้จักในนาม “ แซะห์เตฟ ”  กล่าวว่า ชีวิตผ่านประสบการณ์ในแวดวงฮัจย์มาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่กรุงไคโร ประเทศอิยิปต์ โดยในช่วงปิดภาคเรียนส่วนใหญ่จะไปใช้ชีวิตอยู่ที่มักกะฮ์  ประเทศซาอุดิอาระเบีย ตั้งแต่เดือนรอมฎอน ด้วยการไปช่วยขายของให้คนอาหรับ จนกระทั่งช่วงฮัจย์ ได้มีโอกาสพบกับฮุจญาจคนไทย ด้วยที่เรารู้ภาษาอาหรับ จึงมีโอกาสทำหน้าที่เป็นล่ามให้คนไทยที่ไปทำฮัจย์

            หลังจากเรียนจบกลับมาเมืองไทย จึงจัดตั้งบริษัทดำเนินธุรกิจนำคนไปประกอบพิธีฮัจย์ ในยุคแรกๆ จัดตั้งในนามบริษัท OST ก่อนจะปรับเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นบริษัท  KT ต่อมาจึงมาจดทะเบียนใหม่ (เมื่อปี 2533) โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ST อาระเบียนกรุ๊ป  จำกัด กับเพื่อนสนิท

            “ บริษัท ST อาระเบียน ได้รับการยอมรับ และมีฮุจญาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเริ่มตั้งแต่ 60 - 250 คน ขยับมาเป็น 280 จนกระทั่งสูงสุดถึง 650 คนเมื่อปี 58 ที่ผ่านมา”

              อับดุลลาตีฟ บอกว่า จุดเด่นของ บริษัท ST อาระเบียน ในยุคนั้น เราบริการอาหารไทยเลี้ยงฮุจญาจ ตลอดการอยู่ในช่วงระหว่างพิธีฮัจย์ โดยใช้กุ๊กคนไทย บางครั้งก็ลงมือทำเอง และสลับมาเป็นนักวิชาการด้วย ทำให้เรามีความใกล้ชิดกับฮุจญาจ มีการบอกต่อปากต่อปาก จนเป็นที่รู้จัก และได้รับความเชื่อถือในวงการฮัจย์           

            “ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลง เราต้องปรับตัว จนกระทั่งช่วงหลังมี พรบ. ส่งเสริมกิจการฮัจย์ รัฐบาลจัดระเบียบใหม่ มีความเข้มงวดและบังคับทั้งเรื่องห้องพักและปริมาณของจำนวนคนพัก ทำให้บริษัทดำเนินการกิจการฮัจย์ทุกแห่งต้องปรับตัว ต้องทำตามกติกาใหม่ การหุงอาหารแบบเดิมก็ต้องหยุด มีการนำระบบการจัดการใหม่ไปใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานฮัจย์ไทย”

            อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ได้ร่วมดำเนินธุรกิจฮัจย์กับเพื่อน ในนาม “ST อาระเบียน ประมาณ 25 ปี เราได้แยกตัวออกมาทำเนินธุรกิจเองภายใต้ บริษัท รุสลันเซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งการแยกออกมาไม่ได้เกิดจากการขัดแย้ง แต่เป็นเพราะเราต้องการขยายกิจการ และธุรกิจให้ครอบคลุม อีกทั้งเพื่อสร้างความชัดเจนของการปฏิบัติเท่านั้น

            อับดุลลาตีฟ กล่าวถึงธุรกิจภายใต้ บริษัท รุสลันเซ็นเตอร์ จำกัด ว่า ความจริงชื่อนี้ได้ใช้มานานแล้ว แต่ดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออก เสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิม เพียงแต่มาจดทะเบียนเพิ่มหมวดบริการฮัจย์ เมื่อปีที่แล้ว บริการฮัจย์กับอุมเราะห์ จดทะเบียนกับกรมศาสนา

            “ สำหรับปีนี้คนที่สมัครไปทำฮัจย์ในนาม รุสลันเซ็นเตอร์ มียอดจำนวน 126 คน นอกจากยังมีฮุจญาจที่เป็นโควตาจากบริษัท ST อาระเบียน ซึ่งให้ รุสลันฯ ไปช่วยดูแลอีก 54 คน ”

           อย่างไรก็ตามธุรกิจหลักของ รุสลัน เซ็นเตอร์ วันนี้ นอกจากจะทำธุรกิจฮัจย์และอุมเราะห์แล้ว ยังทำธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่นมุสลิมทั้งชายและหญิง โดยส่วนใหญ่สินค้าจะนำเข้าจากตะวันออกกลางและอินโดนีเซีย ซึ่งของในร้านประมาณ 90% เป็นสินค้านำเข้าเกือบทั้งหมด บางส่วนเผลิตที่เมืองไทยซึ่งถือว่าน้อยมาก

            “ สำหรับสินค้านำเข้ามาติดแบรนด์ใหม่ เป็น แบรนด์ รุสลัน เช่นเสื้อผ้าจากดูไบ เราก็ใช้แบรนด์รุสลัน By ดูไบ เป็นต้น ”

            นอกจากนี้ รุสลันเซ็นเตอร์ ยังเป็นผู้นำเข้าผลไม้สดและผลไม้แห้ง อาทิเช่น อินทผลัม และลูกเกด  โดยเฉพาะอินทผลัม ลูกค้าที่เป็นคนจีนเข้ามาซื้อตลอด เพราะเขารู้ว่าเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์  

             จากประสบการณ์การเดินทางไปเกือบทั่วโลก เราได้เห็นหลายอย่าง เช่นรูปแบบการทำตลาด และการนำสิ่งของมาบรรจุผลิตภัณฑ์ หรือแพ็คเกจ หรือแม้การจัดร้าน และการวางตำแหน่งของสินค้า เพื่อให้ตรงกับเป้าหมายผู้บริโภค ทำให้ร้านรุสลันเซ็นเตอร์ จึงมีความแตกต่างจากร้านแฟชั่นมุสลิมรายอื่นๆ

             “ขณะนี้เราได้ปรับปรุงการบริหาร พร้อมๆ กับการจัดการเพื่อรองรับการขยายตัว เรื่องของกิจการฮัจย์และอุมเราะห์ ในส่วนของเรื่องแฟชั่นเสื้อผ้า ลูกสาววางแผนเพื่อที่จะไปศึกษาเรื่องของดีไซน์เนอร์ ออกแบบและผลิตเอง ในอนาคตอาจจะลดการนำเข้าได้บ้าง”

             ล่าสุดเรากำลังดูแนวทางธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบฮาลาล หรือ Halal tourism ตลาดภายในประเทศ กำลังได้รับความสนใจ โดยเฉพาะการเปิดอาเซียน จึงเตรียมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศรองรับ ซึ่งเป็นอีกช่องทางธุรกิจอีกด้วย

 

 

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร อะลามี่ ฉบับมิถุนายน 2559