สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านที่ควรรู้จัก (2)
อิหร่านอู่อารยธรรม
โดย ศ.(กิตติมาศักดิ์)ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ศูนย์อิหร่านศึกษาและภาษาเปอร์เซีย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
+++++
สำนักข่าวอะลามี่ : การศึกษาและค้นคว้าอายรยธรรมของมนุษยชาติ หลีกหนีไม่พ้นที่กล่าวถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรเปอร์เซียในอดีตสมัย ที่โลกจะต้องจารึกถึงความยิ่งใหญ่และนับว่าเป็นอู่อารยธรรมหนึ่งของโลกและเป็นอารยธรรมแห่งมนุษยชาติ
อิหร่านศึกษา ถือว่าเป็นเนื้อหาหนึ่งที่สำคัญของภาคบูรพคดีวิทยาซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อด้านอิหร่านศึกษาเป็นอย่างมากทีเดียว ก็เป็นไปได้ว่าเพราะอารยธรรมอิหร่าน ได้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่ออารยธรรมโบราณ และได้ทิ้งผลตกทอดไว้หลายรูปแบบในสังคมที่หลากหลาย
ความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ผนวกกับความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและทางด้านภาษา จึงทำให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแตกต่าง และแต่ละวัฒนธรรมจะมีความเด่นกันไปคนละอย่าง ชนชาติเปอร์เซียเดิม ที่รู้จักกันว่าพวกเขานับถือ “ ศาสนาโซโรอัสเตอร์” นับถือเทพพระเจ้าสูงสุด “ อะฮุลา มาสดา” พวกเขารังเกียจการพูดเท็จและการทำผิด และยังเคารพความเชื่อทางศาสนาของบุคคลอื่น โดยมีเสรีภาพทางด้านศาสนา มาตั้งแต่โบราณเลยทีเดียว
สมัยเมื่อชาวอาหรับพิชิตอิหร่าน ทำให้ประชาชนส่วนมากหันเข้ารับศาสนาอิสลาม และประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ยังยึดถือศาสนาดั้งเดิมของพวกเขา ก็พากันอพยพไปอยู่ในประเทศอินเดีย ส่วนประชาชนที่ยังนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ ที่อาศัยอยู่เมืองยัซด์(Yazd)ได้ตัดสินใจนับถือศาสนาเดิมของพวกเขาและยอมจ่ายภาษีพิเศษเป็นการทดแทน
การเผยแพร่ศาสนาอิสลามในอิหร่าน มิได้เป็นสาเหตุให้ประชาชนต้องเปลี่ยนภาษาพื้นเมืองของพวกเขาไปพูดภาษาอาหรับ เมื่อพวกเขาได้ยอมรับศาสนาอิสลาม แต่ในอิหร่านประชาชนยังพูดภาษาดะฮ์รี และภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเป็นภาษาของชาวอิหร่านอย่างกว้างขวาง
และแม้ว่าปราชญ์บางคนของชาวอิหร่านที่ได้เรียนรู้ภาษาอาหรับระดับสูงจนสามารถเขียนตำราเป็นภาษาอาหรับ เขียนคู่มือว่าด้วยไวยากรณ์ภาษาอาหรับและปทานุกรมภาษาอาหรับก็ตาม แต่พวกเขายังพูดและสนทนาภาษาเปอร์เซียอยู่ เช่น ท่านซีบูวัยฮ์ ท่านฟีรุซ ซาบอดี และคนอื่นๆที่มีความชำนาญด้านวิชานิรุกติศาสตร์ และไวยากรณ์ภาษาอาหรับอย่างน่าพิศดาร
จากการที่อิหร่านตั้งอยู่ในฐานะได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ และตั้งอยู่ในทางสี่แพร่งแห่งอารยธรรมที่แตกต่างกัน จึงทำให้อิหร่าน มีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ อุดมมั่งคั่ง อีกทั้งได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางทีเดียว
และด้วยสาเหตุดังกล่าวนั้น จึงทำให้อิหร่านได้โอบอุ้มวัฒนธรรมหลากหลาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่วางอยู่บนคุณค่าแห่งอุดมคติ ศีลธรรม ศาสนาและศิลปะ ยิ่งกว่านั้น อารยธรรมนี้ยังได้ประดับประดาตกแต่งด้วยคุณค่าทางจริยธรรมและวิทยาการอันดีเด่นอีกโสตหนึ่งทีเดียว
กรอปกับทิ้งร่องรอยความละเมียดละไมและวิจิตรประณีตทางด้านงานศิลปกรรม ที่แฝงเร้นด้วยปรัชญาขั้นสูง จนกระทั้งมิติแง่มุมด้านต่างๆที่นับว่าเป็นความเพียรพยายามที่จะทำให้อารยธรรมยิ่งใหญ่นี้ เป็นที่ถูกรู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษาและปัญญาชน และนับเป็นความจำเป็นที่จะต้องรื้อฟื้นและสืบค้นหาวัฒนธรรมอันวิจิตรและงดงามของโลก เพื่อจะให้เกิดพลังทางความคิดและพลวัตทางการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ
วิล ดูแรนต์ (Will Durant) นักประวัติศาสตร์ด้านอารยธรรมโลก ได้กล่าวถึง อารยธรรมเปอร์เซียไว้เกือบหกสิบหน้าในหนังสือ ”The Story of civilization” และได้อธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมเปอร์เซียไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...” ระบบจักรพรรดิและกษัตริย์ เรียกว่า “ปะฮ์ลาวี” เป็นภาษาฮินดี (แปลว่า กษัตริย์) ในสมัยการปกครองของซาซาเนียนได้มีการใช้ระบบนี้มาแล้ว และในสมัยนั้นมีหลักฐานทางการเขียนว่า ประมาณหกหมื่นคำ และคำเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับศาสนา (หรือก็เป็นบทสวดมนต์) และเรารู้ดีว่า แท้จริงด้านภาษาและอักษรศาสตร์นั้นได้ขยายตัวกว้างทีเดียว แต่เนื่องจากมีนักบุญเป็นผู้ท่องจำ ก็จำได้เพียงเท่านั้น และได้รายงานบันทึกเหลืออยู่แค่นั้น
ส่วนนักปกครองและกษัตริย์ในยุคซาซาเนียนเอง ก็มีความชำนาญด้านปรัชญาและด้านวรรณกรรม ซึ่งจากกษัตริย์เปอร์เซียชื่อดัง คือ กษัตริย์ฆุสโร อะนูชีรอน เป็นผู้โดดเด่นกว่าใคร ๆ ในสนามนี้ และเขายังได้รับสั่งให้แปลตำราปรัชญาของเพลโต และอริสโตเติล เป็นภาษาปะฮ์ลาวี (เปอร์เซียโบราณ) และตำรานั้นนำมาเป็นตำราเรียนในมหาวิทยาลัย ญุนดี ชาพูร (Jundi Shapur)” ( The Story of civilization เล่ม๑๐ หน้า ๒๓๔)
“ จากความมั่งคั่งและความยิ่งใหญ่ของเมืองชาพูร(Shapur) เมืองกูบาด(Kobaad) เมืองฆุสโร(Kozro) ได้ทิ้งร่อยรอยทางอารยธรรมด้านศิลปะไว้อย่างน่าทึ่ง และคงจะเป็นความเพียงพอในการพิสูจน์ความยิ่งใหญ่แห่งอารยธรรมเปอร์เซีย ที่ได้ต่อเนื่องมาถึงยุคไซรัสมหาราชและจนถึงสมัยศอฟาวี ชาฮ์ อับบาส มหาราช ณ นครอิสฟาฮาน อันงดงามแห่งศิลปะ”( The Story of civilizationเล่ม๑๐ หน้า๒๕๑)
วิล ดูแรนต์ (Will Durant) กล่าวอีกว่า..” ศิลปะของชาวเปอร์เซีย ในยุคซาซาเนียน ซึ่งเป็นที่ถูกรู้จักในลวดลายและสถาปัตยกรรมนั้น ส่งผลให้ไหลบ่าสู่ประเทศอินเดีย ตุรกี จีน ซีเรีย หรือแม้ในในเอเชียน้อย สู่แอฟริกา อียิปต์ และเข้าสู่สเปน (ตะวันตก)..”..( The Story of civilization เล่ม๑๐ หน้า ๒๕๖)
และได้ถูกกล่าวถึงด้านสถาปัตยกรรมของอิหร่านไว้น่าสนใจว่า
“ อุตสาหกรรมของอิหร่านยุคซาซาเนียน ที่มีความโดดเด่นคือด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม และจะเห็นสถาปัตของเปอร์เซียมีความงดงามและมีความก้าวหน้า ของ สถาปัตย์ หรืองานศิลปะเหล่านั้นได้จากร่องรอยที่ทิ้งไว้ ไม่ว่าจากบ้านเรือน หรือ หอคอย สะพาน ศาสนสถาน ซึ่งยังคงดำรงความยิ่งใหญ่ให้เห็นถึงวันนี้เลยทีเดียว และในเมือง ฟีรูออบอด เมืองชอยูร เมืองฟัรส์ และอื่น ๆ ยังคงมีร่องรอย พระราชวังของกษัตริย์เหลือไว้ให้เห็นอีก ซึ่งเป็นพระราชวังของกษัตริย์เปอร์เซีย ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร ”
(ติดตามตอนต่อไป)