เปิดตัวสถานีวิทยุ-โทรทัศน์มลายู มิติใหม่สื่อชายแดนใต้
สำนักข่าวอะลามี่: ศอ.บต.ร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ เปิดตัว “สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ภาษามลายู” ดีเดย์รายงานสดภาคภาษามลายู่พร้อมกัน ตั่งแต่วันที่ 3 มกราคม 56 ที่ผ่านมา
เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ แห่งวงการสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมในพื้นที่ ร่วมกันก่อตั้ง “สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ภาษามลายู” เพื่อเป็นสื่อของประชาชนที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดรูปแบบ เนื้อหารายการ และการบริหารจัดการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ศอ.บต.พร้อมกับองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดตัว “สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ภาษามลายู อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เวลา 09.30 เป็นต้นไป ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ทั้งนี้หวังว่าจะเป็นช่องทางในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างหน่วยงานราชการกับประชาชน รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อภาษามลายู ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นความภาคภูมิใจของคนในพื้นที่ ที่ได้ศึกษา เรียนรู้ ปกป้องรักษา ถ่ายทอดพัฒนามาโดยตลอด เป็นการส่งเสริมแนวคิดด้านพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมเปิดพื้นที่ของการสื่อสารพูดคุย เพื่อใช้คุณค่าของภาษามลายูเป็นสื่อสันติภาพของภาคประชาสังคม
โดยก่อนหน้านี้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงภาษามลายู โดยมี พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม เป็นประธาน และมี นายเจะฮูเซ็น เจะอุบง นายฮามีดิง สะนอ และนายอับดุลรามันห์ โตะหลง เป็นรองประธาน นายสัมพันธ์ มูซอดี เป็นเลขานุการ
สำหรับในช่วงแรกทีวีมลายูจะออกอากาศทางช่อง TMTV ผ่านระบบดาวเทียม สัญญาณซีแบนด์ แพร่ภาพทุกวันวันละ 30 นาที ระหว่างเวลา 20.00 – 20.30 น. ส่วนวิทยุกระจายเสียงจะออกอากาศทางคลื่นความถี่ FM 88.75 MHz ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
พลตำรวจตรีจำรูญ เด่นอุดม ประธานคณะกรรมการดำเนินการ “สถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ภาษามลายู” กล่าวว่า การเปิดตัวสถานีวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ภาษามลายู โดยใช้ชื่องานว่า “เสียงของประชาชน” ‘Hari Suara Kita’ โดยในช่วงเช้า จะมีการอัญเชิญคัมภีร์อัรกุลอ่าน โดย คุณไซหนับ อับดุลรอมี และการอ่านบทกวี “เสียงของประชาชน ” โดย มี นายอาซิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวเปิดงาน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้นำองค์กรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้มาร่วมงาน อย่างคึกคัก
ในโอกาสนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะผู้เคยทำงานในพื้นที่ และมีบทบาทในการทำงานร่วมกับ กอส. ได้ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ก้าวสู้สันติภาพชายแดนใต้” โดยระบุว่า ภาษามลายู จากนี้ไปมีความจำเป็น ไม่ได้เป็นเพียงการสื่อสารของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นภาษาที่ใช้กันมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน หรือมมากกว่า 300 ล้านคน
นอกจากนี้ในช่วงบ่าย มีการปาฐกถาในหัวข้อ “ภาษามลายูสู่ประชาคมอาเซียน” โดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน โดยย้ำว่าถึงความพร้อมของมุสลิมที่จะแข้งขันในเวทีอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาคภาษามลายู จะเป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสารของคนในพื้นที่ ที่จะต้องร่วมกันแสวงหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาชายแดนใต้ต่อไป