สพก.จชต เผยนักเรียนชายแดนใต้เข้าศึกษาต่อโรงเรียนรัฐเพิ่มขึ้น
สำนักข่าวอะลามี่ : สพฐ. ประชุมผู้บริหารโรงเรียนของรัฐ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ปรับการเรียนการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้ม หลังพบผู้ปกครองพอใจและนำบุตรหลานเข้าเรียนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐ แทนการส่งไปเรียนที่สถานศึกษาปอเนาะ เพิ่มมากขึ้น
วันนี้ (14 ก.ย. 55) ที่ห้องไทรงาม โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท อ.สิงหนคร จ.สงขลา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ (สพก.จชต.) ได้ประชุมปฎิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ แก่ผู้บริหารในโรงเรียนของรัฐ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ตามโครงการ การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้ม ในโรงเรียนของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายแก้ไขปัญหาการจัดการเรียนการสอนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพพร้อมเรียนรู้ด้านศาสนาตามความต้องการ เป็นที่พึงพอใจของผู้ปกครองและชุมชน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 -16 กันยายน 2555 เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นักวิชาการด้านอิสลาม และผู้ที่เกี่ยวข้อง กว่า 400 คน ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางพัฒนาการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับพื้นที่ที่รับผิดชอบ
วันเดัยวกัน นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นายสุริยา ปันจอร์ สมาชิกวุฒิสภา จ.สตูล อาจารย์ วินัย สะมะอุน กรรมการกลางอิสลามกรุงเทพมหานคร และ นายอาไซ่น่า อับดุลเลาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจะแนะ จ.นราธิวาส ร่วมกันแถลงข่าวแนวทางการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้มในโรงเรียนของรัฐ
นายอำนาจ วิชยานุ วัติ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษกว่าท้องถิ่นอื่น ๆ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2549 เห็นชอบกำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉาพะกิจ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ นาทวี เทพา และ อ.สะบ้าย้อย และ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2549 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ใช้ชื่อ การจัดการศึกษาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “การจัดการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้” และมีนโยบายให้มีการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนของรัฐในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โดยยึดหลักเชิงบูรณาการกับวิถีชีวิต ความต้องการของถ้องถิ่น เพื่อให้สนองความต้องการของผู้ปกครองและชุมชนที่มีการเรียกร้องให้รัฐดำเนินการเปิดสอนอิสลามศึกษาแบบเข้มในสถานศึกษาของรัฐ ทำนองเดียวกับสถานศึกษาปอเนาะ คือ สัปดาห์ละ 8 -12 ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมการศึกษาแบบอิสลามศึกษา ซึ่งในขณะนี้การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาแบบเข้มในสถานศึกษาของรัฐได้ดำเนินการนำร่องมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 ในบางโรงเรียน และดำเนินการขยายใช้หลักสูตรดังกล่าวเป็นจำนวน 350 โรงเรียน ในปี 2553 จากการติดตามประเมินผลการปรับปรุงหลักสูตรการสอนอิสลามศึกษาพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจกับการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนของรัฐ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทางเลือกทางการศึกษา ทำให้นักเรียนสามารถเรียนอิสลามศึกษา ในโรงเรียนได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ