20ปีความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯร้าวลึก "นาบิล เอช อัสรี" ชี้กระทบลงทุน AEC
บายไลน์ กองบรรณาธิการ ดิ อะลามี่
สำนักข่าวอะลามี่ : ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ที่เคยราบรื่น กลับต้องลดความสัมพันธ์ ถึงขั้นเลวร้ายที่เกือบจะสะบั้นลง หลังจากมีปัญหาเรื่อง คดีเพชรซาอุฯ คดีสังหารนักธุรกิจ และการลอบสังหารนักการทูตซาอุฯประจำกรุงเทพ
จากความสัมพันธ์ระดับเอกอัครราชทูต ในที่สุดได้ลดความสัมพันธ์เหลือระดับอุปทูต นับจากนั้นเป็นต้นมาเรื่องราวของไทย-ซาอุฯมีจะถูกตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่ความสัมพันธ์จะฟื้นกลับสู่ปรตกิ และทำไมยังไม่สามารถฟื้นความสัมพันธ์ได้
ในโอกาสนี้ “ นิตยสาร ดิ อะลามี่” ได้รับเดียรติจาก “ ท่านนาบิล เอช อัซรี” (Nabil H. Ashri )อุปทูตซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย เปิดบ้านพักย่านบางนา สัมภาษณ์พิเศษ ก่อนจะหมดวาระในประเทศไทยในเดือนมิถุนายน ที่จะถึงนี้
จากนี้ไปบรรทัดต่อบรรทัด คำถามต่อคำถาม จะอธิบายถึงปัญหา คำตอบต่อคำตอบ อธิบายถึงความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ในอนาคต
ดิ อะลามี่ : หลังจากที่ท่านมาปฎิบัติหน้าที่ในเมืองไทย จนถึงวันนี้ มีอะไรที่ท่านคิดว่าเปลี่ยนแปลงไปบ้าง หลังจากที่ความสัมพันธ์ของสองประเทศ ถึงจุดตกต่ำที่สุดในอดีตที่ผ่านมา
ระหว่างที่ข้าพเจ้า ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยเป็นที่ชัดเจนว่า สิ่งต่างๆ ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องสู่เป้าหมายที่ควรจะเป็น เพื่อฟี้นคืนความสัมพันธ์ฉันท์มิตรประเทศ อย่างมีประสิทธิผลและมิตรไมตรี ดังที่ทั้งสองประเทศเคยเป็นในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน และยังคงพยายามที่จะหาวิธีการแก้ไขประเด็นสำคัญที่ยังคงค้างคา ซึ่งข้าพเจ้ายังคงมองโลกในแง่ดี และมีความหวังที่จะไปถึงวันแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญนั้น สิ่งเหล่านั้นจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ มีความคืบหน้าในเชิงบวกและความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลเพื่อฟื้นคืนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศ
ดิ อะลามี่ : ที่ท่านได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การสัมพันธ์ที่ดีขึ้นบ้าง
การเข้าพบอย่างเป็นทางการของข้าพเจ้ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับสูง เพื่อติดตามคดีต่างๆ และหารือเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางคดีที่สำคัญๆ พร้อมกับอธิบายให้เห็นถึงความสูญเสียของทั้งสองประเทศ ผ่านหกรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง และข้าพเจ้าก็ยังคงมีสัมพันธไมตรีที่แน่นแฟ้น กับเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูงหลายท่าน โดยข้าพเจ้าก็ได้เน้นย้ำกับท่านทั้งหลายว่าต้องทุ่มเทการทำงานให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ดิ อะลามี่ : ท่านได้บอกกับรัฐบาลไทยถึงความต้องการของรัฐบาลซาอุฯอย่างไรบ้าง แต่ละรัฐบาลตอบสนองความต้องการของซาอุฯมากน้อยแค่ไหน
สิ่งที่ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ชัด หลังจากที่ได้ทำงานในประเทศไทยกับหลายรัฐบาล คือ เมื่อมีการก้าวไปได้จุดหนึ่ง ก็ต้องหยุดชะงักกับการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ และทำให้ต้องเริ่มต้นกับรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้ง จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการฟี้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศดังเช่นที่ผ่านมา และเราหวังว่ารัฐบาลปัจจุบันนี้ จะสามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นคืนความสัมพันธ์ได้
ดิ อะลามี่ : ระยะเวลาร่วม 20 ปีที่สองประเทศลดความสัมพันธ์ ท่านคิดว่า สองประเทศสูญเสียอะไรไปบ้าง และหากฟื้นสัมพันธ์ได้ อะไรที่ท่านคิดว่า รัฐบาลไทยและซาอุฯ จะได้ประโยชน์ร่วมกัน
ความสูญเสียที่ได้รับ คือการลดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและอื่นๆ อีกมากมาย
ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จะกลับคืนมาในทุกๆ ด้าน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลก และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคของตนเอง และแน่นอนว่าการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ จะทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด เกิดการแลกเปลี่ยน การเยือนระหว่างทั้งสองประเทศในทุกๆ ด้าน
ดิ อะลามี่ : ท่านคิดว่า 6 ปี ที่อยู่เมืองไทย ได้พยายามฟื้นสัมพันธ์ไทยกับซาอุฯ มากน้อยแค่ไหน และทำไม สองประเทศซึ่งมีความผูกพันทั้งในระดับกษัตริย์ และ รัฐต่อรัฐ แต่ยังไม่สามารถฟื้นสัมพันธ์ได้
งานที่สำคัญที่สุดที่ข้าพเจ้าปฏิบัติตั้งแต่มาถึงประเทศไทย คือการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และอย่างที่เห็นก่อนหน้านี้ การที่ข้าพเจ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายท่าน ทำให้สามารถติดตามความคืบหน้าของคดีต่างๆได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากสามารถคลี่คลายคดีต่างๆ ได้ ความสัมพันธ์ก็จะกลับคืนมา เนื่องจาก สองประเทศมีความผูกพันทั้งในระดับราชวงศ์และรัฐต่อรัฐ ตามคำถามที่กล่าวมา แต่การคลี่คลายคดีที่เป็นอุปสรรคสำคัญจะช่วยให้ทุกอย่างสามารถบรรลุเป้าหมายได้
ดิ อะลามี่ : จนถึงวันนี้รัฐบาลซาอุฯยังติดใจอะไรหรือไม่ หรือ ไทยไม่ตอบสนองเรื่องอะไร
ยังมีประเด็นที่ติดใจอยู่อย่างแน่นอน คือ ทั้งสามคดีของซาอุฯ ได้แก่ คดีลอบสังหารนักการทูตซาอุฯ คดีลักพาตัวนักธุรกิจซาอุฯ และการโจรกรรมเพชรซาอุฯ คดีต่างๆ ยังคงอยู่ภายใต้ความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง และเราหวังว่ารัฐบาลปัจจุบันจะสามารถยุติปัญหาที่ค้างอยู่ทั้งหมด
ดิ อะลามี่ : หากฟื้นสัมพันธ์นักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจซาอุฯ จะสามารถลงทุนร่วมกันในด้านไหนบ้างและซาอุฯพร้อมที่จะให้การสนับสนุนภาคธุรกิจไทยหรือไม่ อย่างไร
หากมีการทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อคลี่คลายทั้งสามคดีให้เป็นที่สิ้นสุดได้ และรับประกันความปลอดภัยของชาวซาอุดิอาระเบียในประเทศไทยได้ ทางรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ก็พร้อมที่จะฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศไทย และเปิดโอกาสการทำงานให้คนงานไทยและอนุญาตให้พวกเขากลับไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบียได้อีกครั้ง
ในอดีตแรงงานไทยในประเทศซาอุดีอาระเบียมีกว่า 450,000 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับแรงงานต่างด้าวในประเทศ แต่ตอนนี้มีคนงานไทยเพียงประมาณ 10,000 คน เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศก่อนที่จะเกิดคดี แรงงานไทย มีคุณสมบัติโดดเด่นหลายประการ เช่น ทำงานหนัก มีความพากเพียรและความอดทนและประเทศซาอุดิอาระเบีย มีความพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งประเทศซาอุดิอาระเบีย ยังมีโครงการนับพันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาประเทศ
ดิ อะลามี่ : ท่านคิดว่าท่านภูมิใจอะไรในขณะทีมาปฎิบัติหน้าที่ในเมืองไทย และอะไรที่ท่านคิดว่า ท่านได้ทำไปแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ และอยากให้ท่านทูตคนใหม่สานต่อ
ขอขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า ที่ข้าพเจ้ามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก รู้สึกถึงความปรารถนาของคนไทยในการพัฒนาประเทศของตน และยกระดับความเป็นอยู่ทั้งภายในและภายนอก ข้าพเจ้ายังคงมีการติดต่อกับหลายๆ ฝ่ายอย่างต่อเนื่อง และข้าพเจ้าหวังว่าเมื่อคดีต่างๆได้รับการแก้ไขแล้ว ประเทศซาอุดิอาระเบีย จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการลงทุนในประเทศไทย ประเทศซาอุดิอาระเบียจะได้รับประโยชน์จากความชำนาญและประสบการณ์อันมากมายของไทยในด้านต่างๆ
ข้าพเจ้าหวังที่จะเห็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศกลับมาโดยเร็ว ทั้งนี้ต้องมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และข้าพเจ้าหวังว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนข้าพเจ้า จะประสานงานและทุ่มเทความพยายามติดตามคดีต่างๆ ต่อจากข้าพเจ้า
ดิ อะลามี่ : ในฐานะซาอุฯ เป็นประเทศผู้นำในกลุ่มตะวนออกกลาง คิดว่าหากฟื้นสัมพันธ์ได้ จะทำให้การค้าไทยกับประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง กลับมาคึกคัก ได้มากน้อยแค่ไหน
ประเทศไทยเป็นประเทศสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญและความเป็นผู้นำในตะวันออกกลาง ดังนั้นหากมีความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ทั้งในระดับภูมิภาค และในระดับโลก
อีก2ปีข้างหน้าไทยจะเข้าสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (AEC) หากสองประเทศไม่ฟื้นสัมพันธ์กลับมา จะทำให้ซาอุฯ เสียผลประโยชน์ หรือไทยเสียผลประโยชน์อะไรหรือไม่
ทุกๆ ปัญหาระหว่างประเทศ จะมีผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อประเทศทั้งสอง ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่ง ว่ารัฐบาลไทยรับรู้ถึงสถานะของประเทศซาอุดิอาระเบียในเวทีต่างประเทศ ซึ่งหากความสัมพันธ์ได้พัฒนากลับมาดังเดิม จะส่งผลดีในความร่วมมือระดับภูมิภาคและทวิภาคี
ดิ อะลามี่ : โควต้าฮัจญ์ ปัจจุบันได้แค่ปีละ 12,000 คน หากฟื้นสัมพันธ์ จะมีผลต่อโควตาฮัจญ์ในประเทศไทย หรือไม่
ขณะนี้โควตาผู้แสวงบุญจากประเทศไทยนั้น มีจำนวน 13,000 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวนั้นถูกกำหนดโดยองค์การความร่วมมืออิสลาม ประเทศซาอุดิอาระเบีย จะไม่เข้าไปแทรกแซงในการลดหรือเพิ่มจำนวนผู้แสวงบุญ
ทั้งนี้มีการกำหนดอัตรามุสลิม 1 ล้านคน ต่อผู้แสวงบุญ 1 พันคน แต่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องชาวมุสลิมไม่ใช่เฉพาะในด้านฮัจย์เท่านั้น แต่ยังมีในด้านอื่นๆอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศซาอุดิอาระเบียได้ตระหนักและปฏิบัติมาโดยตลอด
ดิ อะลามี่ : ท่านคิดว่า ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ จะฟื้นได้อีกหรือไม่ อะไรคือสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่จุดนั้น
ข้าพเจ้ามองโลกในแง่ดีเสมอ มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะเร่งคลี่คลายคดีต่างๆ และพัฒนาปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่า หากสัมพันธภาพกลับมาเจริญรุ่งเรือง ประชาชน และรัฐบาลของทั้งสองประเทศก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
ข้าพเจ้ายินดีที่จะเรียนให้ทราบว่า ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย มีความสุขและภูมิใจที่ได้รู้จักและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ หรือประชาชนทั่วไป ซึ่งข้าพเจ้ารัก เคารพ และให้เกียรติแก่ทุกท่าน
สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าหวังที่จะเห็นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย ในระดับที่สูงและเข้มแข็ง เนื่องจากความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศควรจะอยู่ในระดับดังกล่าว
ดิ อะลามี่ : หลังจากท่านย้ายไปนโยบายซาอุฯ กับไทยจะเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่
6 ปีที่มาทำงานในเมืองไทย ข้าพเจ้าพยายามทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการฟื้นสัมพันธ์ไทย-*ซาอุฯ ที่ความสัมพันธ์ลดลงเมื่อ 20ปีทีผ่านมา แม้ว่าตนจะย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ แต่นโยบายของรับบาลซาอุฯ กับประเทศไทยไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนความสัมพันธ์จากนี้ไปอยู่ที่วิสัยทัศน์ของท่านอุปทูตฯ คนต่อไป
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้สัมพันธ์ไทย-ซาอุฯแทบจะสะบั้นลง ซึ่งตนมาอยู่ประเทศไทย 6 ปี ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลถึง 6 รัฐบาล 7 รัฐมนตรีต่างประเทศ ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังไปไม่ถึงจุดที่น่ายินดี มองในแง่ดีว่าในเร็วๆนี้ความสัมพันธ์จะกลับเหมือนเดิม
ดิ อะลามี่ : ระยะอันใกล้ไทยจะเป็นหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน มองการรวมกลุ่มของอาเซียนอย่างไรบ้าง
การรวมกลุ่มของ10 ประเทศ เป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่ามีความสำเร็จแน่นอน เพราะการรวมตัวจะทำให้เกิดความแข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการขนส่ง ในส่วนของประเทศไทยถ้าความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯดีขึ้น ซาอุดิอาระเบียกับสมาชิกอีก 6 ประเทศในกลุ่ม ก็จะหันมาลงทุนกับไทยมากขึ้น
“ ตอนนี้รอแค่ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯกลับมาเท่านั้นเมื่อถึงเวลานั้นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่เฉพาะซาอุดิอาระเบียเท่านั้น จะมาลงทุนในไทย จะมาทั้งกลุ่มหมายถึงประเทศสมาชิก6ประเทศก็มาลงทุนด้วย ซึ่งนั้นคือ หากความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ กลับมาเหมือนเดิม กลุ่มทุนอาหรับก็พร้อมจะมาลงทุนทันที ”
ดิ อะลามี่ : มุมมองของท่านคิดว่ากลุ่มทุนตะวันออกกลางสนใจจะมาลงทุนอะไรในไทยและประเทศภูมิภาคอาเซี่ยน
ปัจจุบันมีนักลงทุนจากตะวันออกกลางมาลงทุนในอาเซี่ยนแล้วหลายอย่าง หลายประเทศ อาทิเช่น กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นทุนใหญ่พอสมควร ยกเว้นแประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากยังความสัมพันธ์ยังไม่กลับมาปรกติ ซึ่งหากไทยกลับมาฟื้นสัมพันธ์กับซาอุฯ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น
ดิ อะลามี่ : มองว่าอุตสาหกรรมฮาลาลไทย มีโอกาสในทางธุรกิจหรือไม่
แน่นอน อาหารไทย เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แค่ตลาดซาอุดิอาระเบีย ถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเรื่องนี้ซาอุฯ รอมาร่วม 21 ปี แล้ว
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับปฐมฤกษ์ ฉบับมิถุนายน 2555