Inside Asia: ดุลยภาพโลกกับเออีซี-จีน โอกาสและความเสี่ยง(ตอนจบ)
บายไลน์: นูซันตารา อันดามัน
: อาเซียน-จีน
สำนักข่าวอะลามี่ : จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นเศรษฐกิจโลกจะหมุนมาเอเชีย โดยจีนจะมีบทบาทสำคัญเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 โดยช่วง 10ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนขยายตัวแบบดับเบิลดิจิตมาโดยตลอด เพิ่งลดความร้อนแรงลงเล็กน้อยในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดปรับประมาณการเศรษฐกิจปี2555ของตนเองลงเหลือโตแค่ร้อยละ 7.5 แต่ไม่ได้สะท้อนนัยยะในเชิงถดถอย เพียงแค่ลดความร้อนแรงลงเท่านั้น
จีนประกาศตัวเป็นโรงงานการผลิตของโลก ผลิตสินค้าส่งออกแทบทุกรายการป้อนให้กับตลาดโลกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ โดยอาศัยค่าแรงงานต่ำในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการฐานการตลาดใหญ่ประชากร1.2พันล้านคน สร้างแรงจูงใจให้ทุนต่างชาติไหลเข้าไปลงทุนในจีนมากมายมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา
การส่งออกและการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้จีนสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยดังกล่าวจึงผลักดันให้จีนเริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับ 12 ของจีนที่เน้นก้าวไปข้างนอกเพื่อรักษาความสมดุลและเน้นพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีคุณภาพ
ความสัมพันธ์ไทย-จีนและอาเซียน-จีน
ไทยกับจีนได้ตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีก่อน โดยเปิดเสรีสินค้าผัก ผลไม้ เป็นลำดับแรก ก่อนพัฒนามาอยู่ภายใต้กรอบอาเซียน-จีนในปี 2547และลดภาษีมากกว่าสินค้ามากกว่า 5,000 รายการให้เหลือร้อยละ0ในปี2553 พร้อมกับเป้าหมายเปิดเสรีบริการและการลงทุน โดยมีสินค้าสงวนให้เหลือน้อยที่สุด
การเปิดเสรีดังกล่าวสร้างโอกาสให้กับไทย จีน และอาเซียนเป็นอย่างมาก โดยจีนกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญของอาเซียน รวมทั้งไทยในหลากหลายสินค้าทั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มันสำปะหลัง ยางพารา
จีนกำหนดให้เมืองหนานหนิง เป็นศูนย์กลางเชื่อมอาเซียน และให้เมืองคุนหมิงเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมมายังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหาทางออกลงทะเล โดยการเร่งพัฒนาเส้นทางรถไฟคุนหมิงผ่านลาวมายังไทยผ่านไปมาเลเซียและสิ้นสุดที่สิงคโปร์ ด้านถนนพัฒนาเส้นทางสายอาร์เก้า อาร์สามเอ เชื่อมโยงกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มน้ำโขง
ขณะเดียวกันโอกาสในการลงทุนในจีนยังเปิดกว้าง โดยเฉพาะในธุรกิจบริการหลากหลายทั้งด้านบันเทิง อาหาร การท่องเที่ยว โรงแรม ที่จีนเปิดรับนักลงทุนมากขึ้นในหลายๆมณฑล
อย่างไรก็ดีโอกาสของตลาดที่เปิดกว้างขึ้น กำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น มาพร้อมกับความเสี่ยงหลายประการในการทำการค้าการลงทุนกับจีน โดยเฉพาะมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ที่จีนนำมาใช้มากขึ้นในระยะหลัง ทั้งการตรวจสุขอนามัยพืชและสัตว์ที่เข้มข้น มาตรฐานสิ่งแวดล้อมถูกสร้างขึ้นมา เพื่อใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้า ส่งผลให้สินค้าผัก ผลไม้ไทยเข้าไปทำตลาดจีนยากลำบากขึ้น เนื่องจากถูกกักกันที่ด่านเพื่อตรวจสอบเป็นระยะเวลาหลายวันส่งผลให้สินค้าเน่าเสีย รวมทั้งการกระจายสินค้าที่ยังไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ทำให้สินค้าไทยเข้าไปจีนไม่คล่องตัวมากนัก
นอกจากนี้ยังมีระบบภาษีที่ซ้ำซ้อน โดยหลังจากที่สินค้าผ่านเข้าด่านไปถึงแต่ละมณฑลภายในของจีนจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกต่อหนึ่ง ส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเสียภาษีซ้ำซ้อนทั้งที่ภายใต้ข้อตกลงจะมีการยกเว้นภาษี แต่อาศัยอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นในการเก็บภาษีเพิ่ม ขณะที่ผู้ผลิตภายในได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้ผู้ส่งออกไทยค่อนข้างเสียเปรียบ
การทำการค้ากับจีนยังเสี่ยงที่จะต้องถูกลอกเลียนแบบสินค้า หรือ ปลอมแปลงสินค้าหากสินค้าไทยได้รับความนิยมทั้งปลอมแปลงแบรนด์และผสมขึ้นใหม่ เช่น นำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยไปผสมกับข้าวในจีนและระบุที่มาจากไทย ส่งผลให้คุณภาพข้าวหอมมะลิไทยเสียหายและตัดโอกาสทางการค้าของไทย
ความเสี่ยงอีกประการในการทำ การค้า การลงทุนกับจีน คือ กฎระเบียบในการทำการค้า โดยจีนมักอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่ายึดถือกฎระเบียบ การเข้าทำตลาดจีนจึงต้องศึกษาประเพณีวัฒนธรรมให้ชัดเจน เช่น ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ การไปเยี่ยมพบหน่วยงานรัฐหรือผุ้ใหญ่ภาคเอกชน ต้องมีสิ่งของไปคารวะจะได้รับความสะดวกมากขึ้นสะท้อนการไม่ยึดถือกฎ กติกา การค้าของจีน
จากความเสี่ยงที่ได้กล่าวมา รัฐบาลไทยและอาเซียนต้องให้ความช่วยเหลือภาคเอกชน โดยรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต้องเป็นทัพหน้าในการเจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะหากมีการเจรจาทบทวนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน กลุ่มอาเซียนต้องผนึกกำลังกันกดดันให้จีนลด ละ เลิก มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้า พร้อมกับเจรจาเปิดเสรีเพิ่มในส่วนของภาคบริการและการลงทุน ซึ่งจีนยังปิดกั้นในหลากหลายธุรกิจเพื่อให้เป็นประโยชน์กับอาเซียนอย่างแท้จริง
: ตีพิมพ์คร้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับปฐมฤกษ์ (มิถุนนายน2555)