Inside Asia: ดุลยภาพโลกกับเออีซี-จีน โอกาสและความเสี่ยง(ตอน2)
บายไลน์: นูซันตารา อันดามัน
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
สำนักข่าวอะลามี่: แกนโลกที่หมุนมายังเอเชีย ทางกลุ่มอาเซียนเอง ได้ตั้งเป้าหมายการรวมกลุ่มกันกระชับมากขึ้นเป็นประชาคมอาเซียนหรือเอซี โดยมีความร่วมมือในสามเสาหลัก ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม วัฒนธรรม
กล่าวสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี มีเป้าหมายการเปิดเสรี สร้างตลาดร่วมที่อนุญาตให้สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนและแรงงานฝีมือสามารถเคลื่อนย้ายได้ภายใต้ข้อกีดกันลดลงเพื่อสร้างฐานการผลิตร่วมกัน การเร่งส่งเสริมให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการส่งเสริมภาวการณ์แข่งขันในระบบตลาด เป็นภูมิภาคที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นภูมิภาคที่มีปฎิสัมพันธ์กับประชาคมโลกมากขึ้น(2)
โดยมีหลักไมล์สำคัญในปี 2558 ต้องรวมตัวสร้างประชาคมให้สำเร็จ ระยะเวลาเพียง 2-3 ปีที่เหลือจึงต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง พัฒนาเมือง ตึกรามบ้านช่อง ที่อยู่อาศัยเพื่อต้อนรับการมาของนักลงทุนต่างชาติที่เห็นโอกาสตลาดเกือบ 600 ล้านคนในภูมิภาคนี้
เออีซีพัฒนามาจากการเปิดเสรีภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า ปี2535 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ลงนามข้อตกลงเปิดเสรีสินค้าลดภาษีเหลือ0-5%ภายใน 15 ปีการลดภาษีดังกล่าวทำให้เกิดโอกาสขยายตัวทางการค้าอย่างกว้างขวาง ตลาดอาเซียนก้าวขึ้นเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับแรกแซงหน้าสหรัฐ ยุโรป ผู้บริโภคในแถบอาเซียนต่างให้ความนิยมและเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าไทย ในสินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องคอมพิวเตอร์ ยานยนต์ ชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และน้ำมัน
ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียน ก็มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลายประเทศมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ไม่นับรวมสิงคโปร์ที่พัฒนาไปก่อนหน้าแล้ว แต่ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามท่ามกลางโอกาสของตลาดที่เปิดกว้างขึ้นอย่างที่กล่าวตอนต้น การก้าวไปสู่เออีซีก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันมากระหว่างอาเซียนเดิมและกลุ่มอาเซียนใหม่หรือซีแอลเอ็มวี ซึ่งระดับการพัฒนาที่ยังมีช่องว่างต่างกันมาก เช่น ประชากรสิงคโปร์กับประชากรพม่ามีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่างกันถึง 60 เท่า ระดับรายได้ที่ต่างกันส่งผลไปถึงอำนาจซื้อที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้สินค้าที่กลุ่มอาเซียนผลิตยังคล้ายกัน ส่งผลให้ชาติอาเซียนแข่งขันกันเองสูงมาก แทนที่จะมุ่งสร้างฐานผลิตร่วมกัน เช่น เวียดนามที่ให้การยอมรับว่าเป้าหมายเออีซีเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายปี 2558 เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามและภูมิภาคนี้ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะแข่งขันกันเองและตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและสหรัฐ เมื่อเศรษฐกิจผู้นำเข้าถดถอย ผู้นำเข้าจำเป็นต้องชะลอการรับซื้อ เวียดนามจึงต้องเอาตัวให้รอดก่อน ความร่วมมือจึงอยู่ภายใต้พื้นฐานการแข่งขันและความหวาดระแวง คลางแคลงใจ หลายประเทศในอาเซียนเองก็มีแนวคิดเช่นเดียวกัน
อาเซียนยังมีจุดอ่อนและความเสี่ยงด้านการศึกษาและการพัฒนาคน โดยแต่ละประเทศใช้งบประมาณเพื่อการวิจัยและการพัฒน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก การทุ่มวิจัยและพัฒนาน้อยจะทำให้ภูมิภาคมีจุดด้อยในด้านเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ภูมิภาคยังคงเป็นผู้รับจ้างผลิตในระบบการผลิต มิใช่การสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจสมัยใหม่จากความคิดสร้างสรรค์
การก้าวสู่เป้าหมายเออีซีของอาเซียนยังจำเป็นต้องมีอาเซียนสปิริตและอาเซียนเฟิร์สต์ โดยทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นอันดับแรก หรืออาเซียนต้องมาก่อนในทุกด้านเพื่อผนึกความร่วมมือในการพัฒนาไปสู่ฐานการผลิตเดียวกันเหมือนกับสหภาพยุโรป หรือ อียู มีอียูเฟิร์สต์ และที่สำคัญอาเซียนต้องเชื่อมโยงกับประเทศนอกกลุ่ม โดยเฉพาะตลาดที่เปิดใหม่และมีพัฒนาการที่รวดเร็วอย่างจีน
การสร้างประชาคมยาก จะต้องสร้างสปิริตของอาเซียนขึ้นมาให้ได้เพื่อเป้าหมายรวมกันเป็นหนึ่ง เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และพลเมืองของอาเซียน โดยเฉพาะไทยฝ่ายการเมืองต้องเข้มแข็ง ถือธงนำและผลักดันจริงจังมากกว่านี้
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับปฐมฤกษ์(มิถุนายน55)