Inside Asia: ดุลยภาพโลกกับเออีซี-จีน โอกาสและความเสี่ยง (ตอน1)
บายไลน์: นูซันตารา อันดามัน
สำนักข่าวอะลามี่: แกนของโลกกำลังเปลี่ยน นักวิชาการและกูรูระดับโลกวิเคราะห์ไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อแกนของโลกหมุนกลับมาสู่เอเชียมากขึ้นในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 โลกกำลังเปลี่ยนขั้วอำนาจ จากตะวันตกสู่ตะวันออก หรือ เรียกยุคใหม่นี้ว่า “บูรพาภิวัฒน์”(1) โดยมีจีนและอินเดีย เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
ขณะที่รัสเซียก็กลับมาแข็งแกร่งมากขึ้น ส่วนตะวันออกกลางดินแดนแห่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลายเป็นนักลงทุนระดับโลก
ไม่เพียงแต่เอเชียที่เติบโตขึ้น แต่บราซิลแห่งทวีปอเมริกาใต้ก็มีเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างมากเม็กซิโกจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอเมริกากลาง
ด้านมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐ กำลังถดถอยลงทุกด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนฐานะจากเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด เป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดแทน โดยมีเจ้าหนี้ คือ จีน ญี่ปุ่นและประเทศผู้ผลิตน้ำมันแห่งตะวันออกกลาง ทำให้ขนาดเศรษฐกิจสหรัฐลดลงจาก ร้อยละ 50 ของโลก ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือเพียงร้อยละ 20 ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในเชิงเศรษฐกิจ สหรัฐที่ประสบภาวะวิกฤติที่เรียกว่าแฮมเบอรก์เกอร์ไครซิส ส่งผลให้สหรัฐต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอย่างยาวนาน ประมาณการว่าอีก 10 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2019 หนี้สาธารณะของสหรัฐจะพุ่งไปอยู่ที่ 14.3 ล้านล้านเหรียญ พร้อมกับการแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น
ขณะที่พันธมิตรของสหรัฐอย่างยุโรปหรือเรียกกันว่าชาติตะวันตกอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ต้องเผชิญกับหนี้สาธารณะท่วมและคนว่างงานเพิ่ม ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนหนี้สาธารณะของยุโรปทั้งหมดต่อจีดีพี พบว่าอยู่ที่ ร้อยละ 90 ของผลผลิตทวีป และในช่วง 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนหนี้ดังกล่าวจะเพิ่มเป็น ร้อยละ 100 ขณะเดียวกัน ยุโรปกำลังเข้าสู่วัยชรา หรือ ประชากรส่วนใหญ่มีอายุ สี่สิบสอง - สี่สิบหก และอัตราการเกิดต่ำ
ด้านญี่ปุ่นแม้จะอยู่ในเอเชีย แต่ได้พัฒนาเศรษฐกิจไปก้าวหน้าทัดเทียมกับชาติตะวันตกในยุคก่อนหน้านี้ แต่ขณะนี้กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก หนี้สินภาครัฐหรือ หนี้สาธารณะร้อยละ 190 ต่อจีดีพี และสังคมญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่วัยชราเหมือนกับอียู
หากพลิกปูมประวัติศาสตร์จะพบว่า ศตวรรษที่ 19 - 20 ที่ผ่านมาเป็นของตะวันตก แต่ศตวรรษที่ 21 จะเป็นของเอเชียและซีกโลกตะวันออก ทำให้ไทยและอาเซียนต้องหันมาให้ความสำคัญกับโลกตะวันออกมากขึ้น เพื่อไม่ให้ “ตกขบวน” เพราะจะพลาดโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับปฐมฤกษ์(มิถุนายน)