Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   สหกรณ์8ประเทศลงนาม'ปฎิญาณสหกรณ์อิสลามอาเซียน'

สหกรณ์8ประเทศลงนาม”ปฎิญาณสหกรณ์อิสลามอาเซียน”

            สำนักข่าวอะลามี่ :  สหกรณ์อิสลาม 8 ประเทศ จับมือประกาศ ปฏิญาณปัตตานี” สร้างเครือข่ายสหกรณ์อิสลามในอาเซียน (ASEAN I.C. / A.I.C) พร้อมแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องมือธุรกรรมอิสลาม รวมถึงการด้านการเงินและการลงทุน

            

            นายอิสมาแอ สามะ ผู้จัดการทั่วไป สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน จำกัด และ ผู้จัดการเครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้ กล่าวถึงการจัดงาน 20 ปี อิบนูอัฟฟาน เมื่อวันที่ 6-9กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมาที่จังหวัดปัตตานี ว่าประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง โดยมี ตัวแทนกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ได้ดำเนินการสหกรณ์ในรูปแบบชารีอะห์ ( ตามหลักศาสนาอิสลาม ) 8 ประเทศ รวม 38 สหกรณ์

            ประกอบด้วย ประเทศอินโดนีเซีย  จำนวน  6  สหกรณ์  ประเทศบรูไน ดารุสสลาม1 สหกรณ์ ประเทศสิงคโปร์1สหกรณ์ ประเทศมาเลเซีย 6 สหกรณ์  ประเทศกัมพูชา 2 สหกรณ์ประเทศเวียดนาม1 สหกรณ์ และประเทศลาว1 สหกรณ์ ส่วนสหกรณ์อิสลามในประเทศไทยอีก  20 สหกรณ์

           งานดังกล่าวได้รับความรู้และมุมมองจาก เลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ  ในฐานะเป็นวิทยากรพิเศษ ในการบรรยายงานครบรอบ 20 ปี อิบนูอัฟฟาน  และ ท่านดาโต๊ะ ซรี อันวาร์ อิบราเฮ็ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศมาเลเซีย  อีกด้วย

เปิด“ ปฏิญาณปัตตานี”สหกรณ์อิสลามอาเซี่ยน

            นายอิสมาแอ  กล่าวอีกว่า สำหรับเวทีสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ คือการประชุมร่วมระหว่างสหกรณ์อิสลามในประเทศไทยกับตัวแทนสหกรณ์ชารีอะห์ กลุ่มประเทศอาเซียน ในหัวข้อ การร่วมมือสหกรณ์อิสลาม/ชารีอะห์ในการพัฒนาเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน หลังจากนั้นที่ประชุมมีข้อสรุปและตกลงข้อตกลงร่วมกันในปฏิญาณปัตตานี ดังรายละเอียด

                1 ข้อตกลงนี้ มีชื่อว่า “ ปฏิญาณปัตตานี ว่าด้วย การประสานงาน และการร่วมมือระหว่างสหกรณ์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ”

                2. ข้อตกลงนี้ ได้กำหนดและการกระทำขึ้นที่จังหวัดปัตตานี เมื่อ 8 กรกฎาคม 2012 ตรงกับ 18 ชะอฺบาน 1433

                3. ข้อตกลงจะจะให้มีการร่วมมือในรายละเอียดดังนี้

                                3.1 การร่วมมือในด้านชารีอะห์และการวิจัย

                                3.2 การร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรและโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อเสริมทักษะ

                                3.3 การร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเครื่องมือธุรกรรมอิสลาม

                                3.4 การร่วมมือทางด้านการเงินและการลงทุน

                4. ในเบื้องต้นการร่วมมือนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการสร้างเครือข่ายสหกรณ์อิสลามในอาเซียน ปี คศ.2015

                5. ชื่อเครือข่ายนี้จะมีชื่อว่า ASEAN I.C. / A.I.C

                6. การร่วมมือในข้อตกลงนี้ จะเป็นการร่วมมือในกิจกรรมที่เกี่ยวกับด้านการเงิน การลงทุนและการปฏิบัติความดีงามตามหลักสหกรณ์ชารีอะห์ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

                7. จำเป็นที่จะต้องจัดการประชุมพบปะประจำปี ตามความจำเป็นและความเหมาะสม

                8. จัดให้มีคณะทำงานเพื่อกำหนดแผนงานและแผนปฏิบัติงาน อย่างต่อเนื่อง

                9 .ข้อตกลงนี้ ได้ลงนามโดย 18 องค์กรตัวแทนและตัวแทนของประเทศต่างๆ ประกอบด้วย ตัวแทนประเทศไทย อินโดนีเซีย  บรูไน  สิงคโปร์  มาเลเซีย  เวียดนาม   กัมพูชา และลาว โดยมีตัวแทนหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) เป็นสักขีพยาน.

 

                สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน จำกัด ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2535  โดยกลุ่มปัญญาชนที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และ อาชีวะระดับสูงจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ร่วมกันคิดเพื่อจัดตั้งกองทุนปลอดดอกเบี้ย การระดมหุ้นเพื่อผู้ประกอบการที่ต้องการให้ธุรกิจและสถานประกอบการของตนเองปลอดดอกเบี้ย

                นับตั้งแต่การก่อตั้ง มีการขยายกิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟาน จำกัด จนถึงปัจจุบันจะมีสมาชิกสหกรณ์ฯ จำนวน 76,000 คน  มีสินทรัพย์ รวม 1,300 ล้านบาท