จำนำข้าวพัทลุงชาวนาขายได้แค่ 9พัน/เกวียน พบแหกตาโจ่งครึ่ม
สำนักข่าวอะลามี่: โครงการจำนำข้าว ฝนตกไม่ทั่วฟ้า คนทำนายังเข้าไม่ถึงโครงการ พบมีขบวนการแหกตารัฐบาลอย่างโจ่งครึ้ม ชาวนาโอดขายได้แค่9000บาท/เกวียนขณะที่พ่อค้าคนกลางฟันต่อถึง2 รอบ
แหล่งข่าวจากโรงสีข้าวจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงสีข้าวจังหวัดพัทลุง ต้องสีข้าวตลอดระยะเวลา เนื่องจากจะต้องระบายข้าวออกให้ได้ เพื่อรับข้าวใหม่ที่เข้ามาจำนำจาชาวนาและพ่อค้า โดยขณะนี้ยังมีชาวนาพ่อค้าจำนวนมากยังเข้ามาไม่ได้ เพราะสถานที่โกดังเก็บไม่เพียงพอ จนชาวนาบางส่วนที่ยังไม่เก็บเกี่ยว จนข้าวในนาต้องร่วงหล่น ส่งผลให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น
“ปริมาณข้าวที่จะเข้าสู่โครงการรับจำ พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช พื้นที่ทำนาประมาณ 1 ล้านไร่ ผลผลิตสามารถเข้าโครงการรับจำนำแล้วเก็บไว้ในโกดังได้ประมาณ 500 ตัน / ปี โดยทำให้โรงสีข้าว พ่อค้ารับซื้อข้าว พ่อค้าโกดังฝากเก็บรักษา จะมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท / ตัน ประมาณ กว่า 2 ล้านบาท / ปี”
แหล่งข่าว ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนชาวนาไม่ได้รับประโยชน์เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่แล้วขายข้าวได้ประมาณ 9,000 บาท / เกวียนเท่านั้น สาเหตุเพราะไม่มีสถานที่เก็บข้าว รถบรรทุก รถเก็บเกี่ยวข้าวและเงินสด จึงเป็นเหตุขายข้าวให้กับผู้ไปซื้อถึงที่นา โดยผู้ซื้อบริหารจัดการเองหมดและชาวนาได้เงินสดทันที หากเข้าสู่โครงการกว่าจะได้เงินต้องใช้เวลานาน
“โครงการนี้ ปรากฎข่าวสารมีการลักลอบนำข้าวมาจากประเทศ พม่า ลาว กัมพูชา เข้ามาสวมรอยข้าวไทยแล้ว แม้กระทั่งข้าวจากรุงเทพฯ เองก็ยังเข้าไปสวมรอยที่ภาคอีสาน ส่วนที่ภาคใต้ ยังไม่ปรากฏข่าวสาร ว่ามีข้าวจากพม่า เข้ามาสวม แต่ข้าวข้ามพื้นที่รับจำนำมีแล้ว จากสงขลา มาพัทลุง เป็นต้น ”
แหล่งข่าว ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเกิดปัญหากรณีชาวนาเอาข้าวเกรดดีไปจำนำเอาไว้ ก็จะถูกสับเปลี่ยนเอาข้าวคุณภาพต่ำมาแทน แล้วเวลาจะส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาลก็จะส่งมอบข้าวเกรดต่ำดังกล่าวให้ด้วย
เจ้าของนาข้าวรายหนึ่ง ในอำเภอบางแก้ว จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ทำนาประมาณ 5 ไร่ โดยขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อประมาณ 9,000 บาท / เกวียน แต่พ่อค้า จะนำไปขายอีกทอดหนึ่ง จะได้ประมาณ 1,1000 บาท / เกวียน ก่อนที่พ่อค้าอีกทอดหนึ่ง จะนำเข้าสู่โครงการับจำนำโครงการ 1,5000 บาท / เกวียน
“การทำนาข้าวที่คึกคักที่สุดเห็นจะเห็นผลทางภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ เพราะมีพื้นที่มาก แต่ละรายอยู่ในระดับ 100 ไร่ แต่ในภาคใต้ โดยเฉพาะพัทลุง โดยเฉลี่ยแล้วรายละ 4-5 ไร่เท่านั้น ”.