"ธีระชัย ภุวานาถนรานุบาล"เขียนเฟสบุ๊คหนุนตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ
สำนักข่าวอะลามี่: "ธีระชัย ภุวานาถนรานุบาล " รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนลงในเฟสบุ๊ค ถึงการตั้งกอทุนมั่งคั่งแห่งชาติ โดยระบุถึงผลดี-ผลเสีย โดยใช้ชื่อว่า Thirachai Phuvanatnaranubala เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2011 เวลา 22:45 น.
ตอบคำถามบางเรื่องเกี่ยวกับกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติโดย Thirachai Phuvanatnaranubala เมื่อ 3 กันยายน 2011 เวลา 22:45 น.
1 การนำเงินทุนสำรองไปลงทุนแบบกองทุนมั่งคั่งของชาติจะมีความเสี่ยงหรือไม่
ต้องยอมรับว่าการลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยงทั้งนั้น เช่นสมมุติให้กู้แก่โครงการรถไฟความเร็วสูงในเอเชีย ลักษณะความเสี่ยงก็อาจเกิดจากจำนวนผู้โดยสารมีน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่ก็น่าจะเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เนื่องจากเอเชียเป็นประเทศกำลังพัฒนา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น โครงการใดที่สนองความจำเป็นพื้นฐานถึงแม้หากจะบังเอิญมีปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็จะมีโอกาสฟื้นได้แน่นอน
แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการที่ ธปท. นำเงินทุนสำรองไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและยุโรปดังที่ปฏิบัติอยู่ขณะนี้ไม่มีความเสี่ยงนะครับ เพราะที่แท้จริงมีความเสี่ยงทั้งในด้านราคาที่ขึ้นๆลงๆ และในด้านค่าเงินต่างประเทศที่อ่อนตัวเพราะมีการพิมพ์เงินออกมามากเกินไป
ทั้งนี้ ท่านทราบหรือไม่ว่าปี 2553 ธปท. มีผลขาดทุนจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 117,473 ล้านบาท และยังมีขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์อีก 260,211 ล้านบาท จำนวนเงินที่สูงมหาศาลเช่นนี้คือปัญหาที่ควรจะต้องแก้ไขครับ
2 การนำเงินทุนสำรองไปลงทุนแบบกองทุนมั่งคั่งของชาติเป็นการแทรกแซง ธปท. หรือไม่
ไม่เป็นการแทรกแซง ธปท. ครับ แต่เป็นการช่วยกันคิดเพื่อแก้ปัญหา เพราะ ณ สิ้นปี 2553 ธปท. มีส่วนของทุนติดลบเป็นจำนวนเงินมหาศาล สูงถึง ติดลบ 431,829 ล้านบาท ถ้าเป็นธุรกิจเอกชนก็จะต้องปิดกิจการไปแล้ว นี่ไม่ใช่สี่แสนบาทนะครับ แต่เป็นสี่แสนล้านบาท
ถึงแม้ ธปท. ไม่ได้ขอให้รัฐบาลช่วยตั้งงบประมาณมาช่วยแก้ไขขาดทุนของ ธปท. แต่ทรัพย์สินของ ธปท. ก็เป็นทรัพย์สินของชาติ ซึ่งควรมีการบริหารจัดการให้ดีที่สุด นอกจากนี้ การที่ ธปท. ขาดทุนจำนวนมหาศาลเช่นนี้ ก็ทำให้ ธปท. ไม่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูซึ่งมีอยู่กว่าหนึ่งล้านล้านบาทได้ ทำให้รัฐบาลมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อกองทุนฟื้นฟูแต่ละปี 50-60,000 ล้านบาท และขณะนี้ ธปท. ก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายให้แก่กองทุนฟื้นฟูต้องสูงขึ้นไปด้วยทุกวัน จึงเป็นภาระต่อนโยบายทางการคลังอย่างมากครับ
3 จำนวนที่จะกันไปเป็นกองทุนมั่งคั่งของชาติควรจะมาจากบัญชีใดใน ธปท.
ผมได้ให้ ธปท. ไปศึกษา โดยในหลักการ จะไม่แตะต้องทองคำและเงินบริจาคของหลวงตา และจะไม่แตะต้องจำนวนที่ต้องใช้หนุนหลังการออกธนบัตร
4 ธปท. จำเป็นต้องกันทุนสำรองสภาพคล่องเอาไว้เท่ากับเงินที่ต่างชาติได้นำมาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และพันธบัตรหรือไม่ เพื่อรองรับในกรณีที่ต่างชาติอาจจะขายและนำเงินกลับออกไป
ไม่จำเป็นครับ ต่างชาติที่หากจะรุมกันขายหุ้น ก็จะทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็จะทำให้ต่างชาติชะลอการขายกันเอง ส่วนคนไทยก็ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับเขาและคอยรอรับซื้อเมื่อราคาลงต่ำก็พอ
นอกจากนี้ หากต่างชาติรุมกันนำเงินกลับออกไป เงินบาทก็จะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว ธปท. ก็ไม่ควรจะไปฝืนสภาพตลาด ธปท. ควรจะปล่อยให้ค่าเงินปรับลดลงตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินทุนสำรองเข้าไปรองรับเอาไว้ดังเช่นในปี 2540