Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   'โพยก้วน'เครดิตการเงินนอกระบบค้าชายแดนไทย-พม่า

'โพยก้วน'เครดิตการเงินนอกระบบค้าชายแดนไทย-พม่า 

 
            สำนักข่าวอะลามี่ : แม้ว่ารัฐบาลพม่าจะประกาศอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยกำหนดอยู่ที่818จ๊าด/ดอลล่าร์ สหรัฐ ก็ตาม แต่พบว่าในเชิงธุรกิจการค้าชายแดนและการทำธุรกิจในพม่า ยังคงนิยมใช้โพยก๊วน เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในหลบายเรื่องรวมถึงระบธนาคารในพม่าเอง

             ทันทีที่ธนาคารกลางพม่า ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนทางการเงิน ระหว่างเงินจ๊าดกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 818 จ๊าดต่อหนึ่งดอลลาร์ และนับจากวันแรกของการเริ่มใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวของค่าเงินจ๊าดนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ในมิติทางการลงทุนแล้ว นับได้ว่าเป็นย่างก้าวแรกของพม่า ในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ  ภายหลังการเลือกตั้งภายในประเทศของพม่าผ่านพ้นไป

           สำหรับเงินจ๊าดของพม่าในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า ไม่มีมาตรฐานของเหลดการซื้อขายแต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม อัตราที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาดมืด กลับมีส่วนต่างกันอย่างลิบลับ เพราะหนึ่งดอลลาร์สหรัฐต้องแลกด้วยเงินจ๊าดประมาณ 800-820 จ๊าด

            อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางพม่า นำอัตราแลกเปลี่ยนอัตราใหม่มาใช้ในครั้งนี้ เป็นภาพที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศในเชิงเศรษฐกิจการลงทุนได้เป็นอย่างดี ว่า เป็นห้วงเวลาที่พม่าพร้อมเปิดประเทศ เพื่อรับการลงทุน ที่หลังไหลเข้ามาจากต่างประเทศ หลังจากที่กลุ่มทุนต่างชาติพยายามจับจ้องไปที่พม่า นับตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เพราะคาดหวังว่า พม่า น่าจะเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว

           ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดหวัง เมื่อที่ปรึกษาทางการเงินของธนาคารกลางพม่า ก็ได้ออกมาให้ความคิดเห็นในทำนองเดียวกันว่า การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวของธนาคารกลางพม่า จะเป็นผลดีอย่างมาก ต่อระบบเศรษฐกิจพม่าในการติดต่อกับประชาคมโลก โดยเฉพาะการทำธุรกิจกับบริษัทข้ามชาติ

           นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินของพม่า เป็นภาพที่สะท้อนภาคการลงทุนในระยะยาวของพม่าได้เป็นอย่างดี เพราะนั่นหมายถึงการสื่อถึงการเปิดประเทศเพื่อรับกลุ่มทุนที่จะไหลทะลักเข้าสู่ประเทศพม่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ให้ความสนใจที่จะเดินทางเข้าไปลงทุนในประเทศพม่ามาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

           " ขณะเดียวกัน พม่าเองก็มีนโยบายการเปิดประเทศ เพื่อรับการลงทุนจากต่างชาติ แต่จังหวะเดียวกันนั้น หากพม่ายังคงใช้นโยบายค่าเงินรูปแบบเดิม ปัญหาที่จะตามมา คือ การคอรัปชั่น และการก่อเกิดเป็นกลุ่มผลประโยชน์มากมาย อีกทั้ง ปัญหาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่างกันอย่างมาก จากในระบบและนอกระบบ ซึ่งยิ่งจะทำให้แม้แต่ภาคการลงทุนจากต่างชาติยังต้องชะงัก เพราะสถานการณ์ที่เป็นไปในลักษณะนี้ จะเป็นอุปสรรคอย่างมาก กับ กลุ่มทุนที่เป็นบริษัทซึ่งมีความโปร่งใส หรือ มีมาตรฐานทางระบบบัญชีสูง” นายพัฒนา กล่าว และว่า

           ในขณะที่ตลาดมืดสามารถนำเงินดอลลาร์ไปแลกได้ในจำนวนที่มากกว่า แต่ในทางตรงกันข้าม ที่ผ่านมาระบบการเงินของรัฐ กลับให้ค่าเงินที่ต่ำกว่า และมีส่วนต่างกันมาก ปัญหานี้จึงแน่นอนว่า จะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศพม่าอย่างแน่นอน

            ด้านนายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ ผู้ประกอบการค้าชายแดนอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนของพม่า สภาวะการค้าชายแดน  ระหว่างไทยกับพม่า ด้านอำเภอแม่สาย จะไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด จากความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าชายแดนทั้งสองฝ่ายต่างยังยึดถือค่าเงินบาทเป็นที่ตั้ง ในการกำหนดราคาสินค้า และการค้าขายระหว่างกัน ทั้งในระบบการซื้อการขาย ที่ต้องใช้เอกสารกำกับ หรือที่เรียกว่าโพยก้วย แทนจำนวนเงินสด รวมถึงค่าเงินที่มีการยึดถือจากเหลดตามสภาวะตลาดจริง ซึ่งในวงการค้าชายแดน จะเป็นที่รู้และให้การยอมรับต่อกันในเชิงของวัฒนธรรมทางการค้า และความเชื่อถือที่มีต่อกันระหว่างคู่ค้าของสองประเทศ

           ส่วนโพยก้วน เอกสารการซื้อขายอย่างไม่เป็นทางการ หรือตั๋วแลกเงิน  ที่ว่าด้วยความเชื่อถือระหว่างกันในทางการเงิน ก็ยังคงใช้กันอยู่เหมือนเดิม เนื่องจากพม่าไม่ได้มีระบบ LC หรือข้อจำกัดทางการค้ามากนัก ดังนั้น ความเชื่อถือระหว่างคู่ค้า จึงยังต้องเป็นส่วนสำคัญของการค้าชายแดนกับผู้ประกอบการทางฝั่งพม่า

             “โพยก้วน เป็นเอกสารที่ถูกสร้างขึ้นจากกลุ่มผู้ประกอบการค้าด้วยกันเอง ไม่ได้อยู่ในระบบของรัฐ หรือระบบการเงินของประเทศแต่อย่างใด แต่โพยก้วนกลับเป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มพ่อค้าชายแดน นั่นคือ ตั๋วแลกเงินในระบบการค้า ที่ทั้งสองประเทศต่างให้การยอมรับ และใช้กันมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้น ที่ผ่านมา การค้าขายกับพม่า พ่อค้าไม่จำเป็นต้องขนเงินครั้งละจำนวนมากๆ เพื่อการสั่งซื้อสินค้า อันเนื่องจากพม่าเอง ก็มีข้อจำกัดอีกหลายด้าน โดยเฉพาะธนาคารหรือสถาบันการเงินในแต่ละพื้นที่” นายบุญธรรม กล่าว และว่า

             เมื่อ 2 ปี  ที่ผ่านมา  100 จ๊าด เท่ากับเงินไทย เพียงแค่ 2 บาท เท่านั้น และได้ปรับขยับขึ้นมาเรื่อยๆ กระทั่งตอนนี้ค่าเงินจ๊าด   100 จ๊าด เท่ากับเงินไทย 4 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราตัวเลขนี้เป็นอัตราการแลกเปลี่ยนจริงของผู้ประกอบการค้าชายแดนไทย – พม่า

              ดร.ธนสิน ถนอมพงษ์พันธ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้ความเห็นว่า อดีตที่ผ่านมา ค่าเงินของพม่าไม่ได้เป็นที่แท้จริงในตลาดการเงินปกติ และการแลกเปลี่ยนไม่มีความเป็นมาตรฐานแต่อย่างใด อัตราแลกเปลี่ยนจะสูงต่ำเท่าไหร่  ขึ้นอยู่กับว่า  ผู้แลกรู้จักกับใครในเวลานั้น ซึ่งนั่นหมายถึง ค่าเงินไม่มีอัตตรากลางในการที่จะสะท้อนปัจจัยได้อย่างแท้จริง นโยบายลอยตัวค่าเงินจ๊าดของพม่าคราวนี้ จึงถือได้ว่า เป็นการนับหนึ่ง เพื่อการสร้างความสมดุลทางการเงินอีกครั้ง

              การจัดตั้งตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ให้ได้มาตรฐานสากล และปล่อยให้กลไกตลาด เป็นตัวกำหนดค่าเงินจ๊าด ซึ่งการลอยตัวของค่าเงินครั้งนี้  ต้องยอมรับว่าอาจจะทำให้เงินจ๊าดมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนที่ลอยตัว ยังจะเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ มหภาคภายในประเทศอีกด้วย เพราะกลุ่มทุนต่างชาติที่พร้อมจะเข้าไปลงทุนในพม่ามีอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะภายหลังจากการที่ประเทศพม่า เริ่มเปิดตัวเองในการให้การยอมรับอิทธิพลจากโลกตะวันตกขึ้นมาบ้าง

                 แม้พม่าจะยกระดับ ในการจัดตั้งตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศขึ้นมาอย่างเป็นระบบ โดยให้การยอมรับในการลอยตัวของค่าเงิน เพื่อให้เป็นไปตามสภาวะตลาดจริง แต่การค้าที่อาศัยความเชื่อถือเป็นที่ตั้งมายาวนาน ยังคงทำให้โพยก้วน   ยังคงมีใช้กันอยู่ต่อไปในกลุ่มผู้ประกอบการค้าด้วยกันเอง

 : ชินภัทร์ ไชยกมล รายงาน