ไทยเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานด้านบริการแข่งตลาดอาเซี่ยน
สำนักข่าวอะลามี่ : กระทรวงแรงงานจับมือสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเร่งพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม รูปแบบการฝึก การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้ได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเป็นที่ยอมรับระดับสากล พร้อมรองรับประชาคมอาเซียน
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดภูเก็ต ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นแหล่งรายได้ลำดับต้นๆ ที่สามารถนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศ ปีละหลายแสนล้านบาท ประกอบกับปัจจุบันตลาดการท่องเที่ยวมีการแข่งขันสูง ทั้งคุณภาพแหล่งท่องเที่ยว บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก
โดยปี 2558 จะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งการแข่งขันจะมีความรุนแรงมากขึ้น การที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้มาลงนามความร่วมมือ (MOU) กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาศักยภาพแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตร รูปแบบการฝึก การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาท่องเที่ยวและบริการ โดยความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกัน และเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ในเบื้องต้นจะร่วมกันดำเนินโครงการยกระดับศักยภาพแรงงานไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้นรองรับรายได้ที่แท้จริง และโครงการพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานไทยเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยการจัดทำหลักสูตรยกระดับทักษะฝีมือในกลุ่ม 12 สาขาอาชีพ เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม และ ธุรกิจจำหน่วยสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว เป็นต้น
ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่สาวจะสอดรับกับข้อตกลงการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยว 32 ตำแหน่งของอาเซียนที่ครอบคลุม 4 กลุ่ม คือ แผนกต้อนรับ แม่บ้าน อาหาร อาหารและเครื่องดื่ม ด้านการเดินทางที่แยกออกเป็นตัวแทนการท่องเที่ยวและบริษัททัวร์ เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพทั้งด้านทักษะฝีมือและมีจำนวนเพียงพออย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบกิจการ รองรับการขยายตัวในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และรองรับประชาคมอาเซียน รวมถึงให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบได้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทำให้ผู้ประกอบกิจการ เกิดความคุ้มค่าในการจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงาน และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการเร่งยกระดับฝีมือแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้นรองรับรายได้วันละไม่น้อยกว่า 300 บาท
นายประพันธ์ มนทการติวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดการท่องเที่ยวมีการแข่งขันสูง ทั้งคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและบุคลากร ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ (ยกเว้นประเทศไทย) ได้ลงนามข้อตกลงการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยว 32 ตำแหน่งงาน ในสาขาที่พักและการเดินทาง ส่งผลให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยวสามารถที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างเสรี
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของไทย ให้มีสมรรถนะและศักยภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล รองรับการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวเสรีอาเซียน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องควรมีความร่วมมือ เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรการท่องเที่ยวให้มีสมรรถนะสูงสุดตามที่อาเซียนได้กำหนดไว้ร่วมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี