Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ศูนย์วิทยศาสตร์จุฬาฯยกระดับมาตรฐานฮาลาลไทยสู่ฮาลาลโลก

ศูนย์วิทยาศาสตร์จุฬาฯยกระดับมาตรฐานฮาลาลไทยสู้ตลาดโลก

         สำนักข่าวอะลามี่ : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ จับมือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย  และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮาลาลผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำตลาดอาหารฮาลาลโลก

          เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือด้านการ ยกระดับคุณภาพและการมาตรฐานฮาลาล ตามแนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” ระหว่าง คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมเปิดตัวศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ บริเวณ ชั้น 12 ที่ใช้สำหรับการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการ เพื่อสร้างศักยภาพบุคลากรฮาลาล ในการตรวจประเมินรับรองและให้คำปรึกษาฮาลาล โดยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลสนับสนุนการดำเนินงาน ดังเช่น การตรวจประเมินด้วยระบบอิเล็คโทรนิกเต็มระบบเป็นที่แรกในโลก

            รองศาสตราจารย์ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตลาดฮาลาล มีการแข่งขันสูงทั้งด้านคุณภาพและราคา    ผู้ครอบครองตลาดส่วนใหญ่คือ ประเทศที่พัฒนาแล้วที่มิใช่ประเทศมุสลิม ที่ได้รับการยอมรับในภาพลักษณ์ด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ หากประเทศไทยประสงค์แข่งขันในระยะยาวอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการรับรองฮาลาลขององค์กรในศาสนาอิสลามให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เสริมด้วยการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการ

           สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร เห็นความสำคัญด้านนี้จึงได้ร่วมกับ  ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างหลักสูตรและจัดอบรมบุคลากรฮาลาล ประจำสำนักงาน เพื่อสร้างแนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” พร้อมภาพลักษณ์ “วิทยาศาสตร์ฮาลาล อัตลักษณ์ประเทศไทย” ให้เป็นที่ปรากฏ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

            นอกจากนี้ ยังผลักดันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยให้ก้าวเข้าสู่ระบบธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยบูรณาการนวัตกรรมของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในงาน World Halal Research Summit 2011 จากประเทศมาเลเซีย เข้ากับระบบการผลิตและการตรวจประเมินได้แก่ ระบบการบริหารจัดการเพื่อการผลิตอาหารฮาลาลปลอดภัยตามมาตรฐาน HAL-Q ( Hygiene-Assurance-Liability Quality System )

             อีกทั้งยังมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ  SILK เพื่อการควบคุมโลจิสติกส์ตามศาสนบัญญัติอิสลาม (Shariah-compliant ICT Logistics Kontrol) ระบบการตรวจวิเคราะห์ซับซ้อนทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล และสบู่ดิน เพื่อการชำระล้างสิ่งสกปรกตามบัญญัติในศาสนาอิสลามหรือนญิส   ที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งได้รับการรับรองฮาลาลจากประเทศไทย อินโดนีเซียและสิงค์โปร์ และได้รับการวินิจฉัย (ฟัตวา) โดยคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครว่าสามารถชำระล้างนญิสทุกชนิด

               ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสิบประเทศ ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลใหญ่ที่สุดในโลก แต่ละปีผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยส่งออกสู่ตลาดโลกไม่ต่ำกว่า 25,000  ล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ส่งออกสู่ 57 ประเทศมุสลิม โดยมีโรงงานอาหาร  ฮาลาลปลอดภัยในเขตกรุงเทพมหานครกว่า 250 โรงงาน มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในบทบาทดังกล่าว