Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   กรอ.ภูมิภาคภูเก็ตพร้อมลุยพัฒนาใต้ทั้งบก-อากาศ

ประชุม กรอ.ภูมิภาคที่ภูเก็ต บรรลุเป้าหมายพร้อมลุยพัฒนาใต้ทั้งบก-อากาศ

           สำนักข่าวอะลามี่ : กรอ.ภูมิภาค ได้ข้อสรุปเดินหน้าพัมฯอันดามันและพื้นที่ภาคใต้ โดย กกร.เสนอพัฒนาโครงข่ายทางถนนและโลจิสติกส์ภาคใต้ รวมทั้งท่าเรือรับการค้าการลงทุน ขณะที่กระทรวงคมนาคม รับลูกพร้อมพัฒนาเส้นทางคมนาคมลงใต้ ทั้งระบบรางและทางอากาศ

          ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอะลามี่ รายงานความคืบหน้าการประชุม กรอ.ภูมิภาค เมื่อเวลา 19.30 น.ของวันที่ 19 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมาที่ห้องประชุมชั้น 1 อาคารวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน กกร.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ร่วมกันแถลงข่าวสรุปการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 3/2555
 

กกร.เสนอพัฒนาโครงข่ายทางถนนและโลจิสติกส์ภาคใต้ รวมทั้งท่าเรือรับการค้าการลงทุน

            นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน กกร.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของภาคเอกชนมีความกระตือรือร้น มีการระดมสมองและร่วมหารือกันในการนำประเด็นมาเสนอกับนายกรัฐมนตรี ตลอดจนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องที่นำเสนอนั้น ได้แก่ โครงการพัฒนาโครงข่ายพัฒนาคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โดยในพื้นที่อันดามันมีการเสนอขอขยายถนนฝั่งอันดามันหรือทางหลวงหมายเลข 4 ให้เป็น 4 ช่องจราจร ตั้งแต่แยกปฐมพร จ.ชุมพร ระนอง พังงา ตรัง และเชื่อมทางหลวงหมายเลข 404 ทางหลวงหมายเลข 416 และทางหลวงหมายเลข 4184 ด่านวังประจัน จ.สตูล

           ถัดมาเป็นโครงการรถไฟทางคู่ภาคใต้ เส้นทางกรุงเทพ ชุมพร สุไหงโกลก และปาดังเบซาร์ ซึ่งต้องการเห็นแผนงานดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2560 นอกจากนี้ยังมีเรื่องการอำนวยพิธีการตรวจคนเข้าเมืองสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบการออกหนังสือเดินทางให้เป็นซิงเกิลไลน์ หมายถึงว่าเป็นเข้าแถวจากนั้นกระจายไปตามช่องต่างๆ ให้นักธุรกิจมีช่องทางพิเศษ และมีการประมวลตัวเลขชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่าเมื่อบริการแล้วเป็นที่พอใจหรือไม่อย่างไร

            ส่วนเรื่องการส่งเสริมการค้าและการลงทุนนั้น นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ได้มีการเสนอให้มีการเร่งรัดตามแนวทางมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 เช่น การจัดเอกสารสิทธิจำนวน 46 รายการ การปรับปรุงแนวทางการเกี่ยวกับการต่อใบอนุญาตไม้ทุกประเภทซึ่งรวมไม้ยางพาราด้วย จากเดิมใช้เวลาในการต่อค่อนข้างกระชั้น จากปีต่อปี ให้ขยายเป็น 5 ปี แต่สุดท้ายได้ข้อสรุปอยู่ที่ 3 ปี โดยเร่งรัดในการข้อกำหนอและกฎกระทรวงต่างๆ รวมทั้งการทำบัญชีไม้ ตลอดจนการแทนค่าน้ำหนักจากลูกบาศก์เป็นปริมาตรให้ด้วย

            นอกจากนี้อีกโครงการที่สำคัญ คือ โครงการบ้านปลาเฉลิมพระเกียรติทะเลไทย หรือปะการังเทียมฝั่งอันดามัน ซึ่งจะมีการสร้างและวางปะการังเทียมในพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วทะเลไทย รวมถึงภาคตะวันออกด้วย ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่  ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนองและตรัง ซึ่งทางภาคเอกชนได้เคยทำการทดลองและวิจัยไว้แล้ว สรุปผลออกมาว่าได้ผลดีมาก จากการใช้เวลาทำประมาณไม่ถึงปี จากที่ลงทุนไปประมาณ 2 ล้านบาท สามารถคืนทุนกลับมาประมาณ 1 ล้านบาท และมีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูและการประกอบอาชีพของประมงชายฝั่ง

             อย่างไรก็ตามยังได้มีการเสนอให้มีการก่อสร้างด่านสะเดา แห่งใหม่, การต่ออายุมาตรการเพื่อปรับปรุงเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนใต้ ซึ่งจะหมดอายุในเดือนธันวาคม 2555 นี้ โดยให้ขยายออกไปอีก 5 ปี, โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบางรา จ.สตูล เพราะจะก่อประโยชน์ในการเป็นท่าเรือสำรองและส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกซึ่งเราไม่มีท่าเทียบเรือสำคัญ ,

           โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ เนื่องจากเรามีปัญหาคนงานขาดแคลน ปัญหาค่าจ้างแรงงานซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น จำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างของการพัฒนาประเทศ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งจำเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น ช่องทางที่มีความสำคัญ คือ เรื่องของอุทยานวิทยาศาสตร์ซึ่งจะเป็นโครงการที่ทำให้ภาคนักวิชาการ นักวิจัยและการศึกษาได้เข้ามาร่วมกับทางภาคเอกชน

           โดยเฉพาะที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโอทอปหรือเอสเอ็มอีเพื่อให้สามารถเข้าถึงและสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับโครงสร้างหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานในการยกระดับของประเทศไปสู่การใช้องค์ความรู้ให้มากขึ้น

           นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า โดยสรุปแล้วผลการประชุมในครั้งนี้ออกมาเป็นที่น่าพอใจของภาคเอกชน โดยเฉพาะการตอบรับและการที่จะเข้าไปแก้ไขเร่งรัดโครงการต่างๆ ที่ได้นำเสนอ ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนได้ใช้เวลาในการหารือร่วมกันเป็นเวลานานพอสมควร เมื่อผลออกมาเช่นนี้จึงมองว่าการประชุม กรอ.ภูมิภาคมีประโยชน์อย่างมาก

คมนาคมพร้อมพัฒนาเส้นทางคมนาคมลงใต้ ทั้งระบบรางและทางอากาศ

        ด้าน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงสร้างด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ที่ทางภาคธุรกิจเสนอมานั้น ประเด็นหลักได้แก่ การขยายถนนในฝั่งอันดามัน ให้เป็น 4 ช่องจราจรตั้งแต่แยกปฐมพร จ.ชุมพร ระนอง พังงา ตรัง และสตูล ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการว่าให้พิจารณาเชื่อมเส้นทางโดยเน้นการท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากเป็นถนนที่เลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และการสร้างทางเชื่อมของถนนสายรองไปยังถนนสายหลัก ตลอดจนการปรับปรุงเส้นทางให้มีความปลอดภัยในการเดินทาง โดยให้เน้นในเขตชุมชนหนาแน่นเป็นสำคัญก่อน เช่น ผ่านที่ว่าการอำเภอ เทศบาลขนาดใหญ่ เป็นต้น ปรับปรุงทำถนนสี่ช่องจราจรก่อน

         โครงสร้างรถไฟทางคู่ภาคใต้ ซึ่งนายกฯ มองว่าในข้อเสนอของทางภาคเอกชนเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และรับที่จะไปจัดทำแผนบูรณาการเชื่อมโยงระบบรางภายในประเทศ ตลอดจนการสร้างเส้นทางที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนในอนาคต กับการเสนอโครงการรถไฟสายอันดามัน ซึ่งทางกระทรวงฯ รับไปพิจารราดำเนินการศึกษารายละเอียดและเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป

         ส่วนการปรับปรุงและขยายโอกาสสนามบินภูเก็ต ซึ่งมีงบประมาณระหว่างปี 2555 – 25557 จำนวนประมาณ 5,700 ล้านบาท ในการสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่าประเทศ ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ปรับปรุงหลุมจอด ตลอดจนการอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้สามารถรับผู้โดยสารได้ปีละประมาณ 12.5 ล้านคน จากปัจจุบันที่รับได้ 6.5 ล้านคน  ส่วนของสนามบินกระบี่ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงและขยายเรียบร้อยแล้วสามารถดำเนินการได้ประมาณเดือนเมษายนนี้ ขาดเฉพาะในส่วนของเทคนิคการบริการ ซึ่งนายกฯ ได้เร่งรัดให้ดำเนินการแก้ไข โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างการท่าอากาศยานกับการบินพลเรือนเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของสนามบินกระบี่และสนามบินตรังซึ่งมีกฎระเบียบเป็นจำนวนมาก

           นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการปรับปรุงท่าอากาศยานสุวรณภูมิ โดยเฉพาะระบบตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งนายกฯ ได้ประสานกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีแผนการปรับปรับในด้านต่างๆ เช่น ระบบการเข้าแถว ระบบเช็คและตรวจสอบผู้โดยสารล่วงหน้า ระบบการตรวจเช็คผู้โดยสารเฟิร์สคลาสและบิซิเนสคลาสได้ก่อน การตรวจเช็คของกรุ๊ปทัวร์ เป็นต้น 

 สภาฯ ท่องเที่ยวเสนอตั้ง กก.พัฒนาและแก้ปัญหาท่องเที่ยวระดับจังหวัด

        ขณะที่ นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า ปัญหาการท่องเที่ยวนั้นจะเกี่ยวโยงกับหลายกระทรวงเข้าด้วยกัน ซึ่งทางสภาฯ การท่องเที่ยวได้มีการเสนอกลไกในการแก้ปัญหา หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการพัฒนาและแก้ไขปัญหาท่องเที่ยวเชิงปฏิบัติการ ซึ่งท่านนายกฯ รับไปและมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปศึกษาในโครงสร้างดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะคร่าว ๆ คือ ในแต่ละจังหวัดจะมีกรรมการดูแลเฉพาะการท่องเที่ยว และจะมีการบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หากมีปัญหาด้านการท่องเที่ยวและไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับจังหวัดก็จะส่งเรื่องต่อให้กับส่วนกลาง หากทำได้เช่นนั้นคาดว่าปัญหาท่องเที่ยวจะสามารถดำเนินการแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

          อีกประเด็นที่มีความสำคัญมากสำหรับการท่องเที่ยวในปัจจุบัน คือ ตรวจคนเข้าเมืองหรือ ตม.ซึ่งต้องขอบคุณทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด และกระทรวงคมนาคม ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข คาดว่าปริมาณปัญหาดังกล่าวน่าจะลดลงได้ในระดับหนึ่ง และคาดหวังว่าคณะกรรมการฯ ที่จัดตั้งขึ้นนั้นจะสามารถแก้ปัญหาด้านการท่องเที่ยวที่หมักหมมมานาน เช่น แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม การหลอกลวงนักท่องเที่ยว เป็นต้น น่าจะลุล่วงด้วยดีจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรี นางปิยะมานกล่าว