ตัวแทนฮัจญ์จี้รัฐเร่งขอโคว้ต้าเพิ่มหวั่นกระทบผู้ลงทะเบียน
สำนักข่าวอะลามี่ : ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ภาคใต้และภาคกลางเข้าพบ เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมยื่นหนังสือ 7ข้อ ขอให้ประสานงานกับรัฐบาล ขอเพิ่มจำนวนโควต้าผู้แสวงบุญฮัจย์ชาวไทยมุสลิม ปี 2555 และทบทวนนโยบายเก็บเงินลงทะเบียน 50,000 บาท
นายอิสมาแอ สามะ เลขาธิการสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ภาคใต้ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2555 ที่ผ่านมา ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ภาคใต้และ ภาคกลาง ได้เข้าพบ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อเข้าเยี่ยม แสดงความยินดีและปรึกษาหารือ การรับทราบและแนวทางในการแก้ปัญหากิจการฮัจย์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ประจำปี 2555
ทั้งนี้พี่น้องมุสลิมในพื้นที่ที่รับผิดชอบของ ศอ.บต.ได้ทำการลงทะเบียนจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ มีจำนวนมากเป็นพิเศษจากภูมิภาคอื่น เนื่องจากยอดของผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้นประมาณ 18,600 คน ซึ่งอาจจะเป็นบัญชีรายชื่อจะต้องอยู่นอกโควต้าประมาณ 10,800 คน ซึ่งจากการลงทะเบียนดังกล่าวปัจจุบันมีเงินสดที่จ่ายไปแล้วมากถึง 540 ล้าน
ในโอกาสนี้ ทางสมาคมฯได้ประชุมหารือกับผู้ประกอบการฯ เพื่อป้องกันปัญหา และผลกระทบกับผู้ลงทะเบียนและญาติพี่น้อง เหมือนกับปัญหาที่ได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2554 ทางสมาคมฯได้ยื่นข้อเสนอดังนี้
1. ทางสมาคมฯได้แนบมติการประชุมของผู้ประกอบกิจการฮัจย์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 จำนวน 3 ข้อ จำนวน 5 หน้ากระดาษ ซึ่งจะเป็นเอกสารชุดเดียวกันที่ได้เรียนส่งให้อธิบดีกรมการศาสนา ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี
2. ทางสมาคมฯ ได้เรียนเสนอให้รัฐบาล พิจารณาอย่างรีบด่วนทุกวิถีทาง เพื่อจะให้จำนวนโควตาผู้แสวงบุญประจำปี 2555 ได้จำนวนเพิ่มขึ้น โดยอาศัยความสามารถของบุคคลที่มีปฎิสัมพันธ์ที่ดี และเป็นบุคคลที่ทางประเทศซาอุดีอาราเบีย ให้ความไว้วางใจ และสามารถสะสางปัญหาระหว่างทั้งสองประเทศที่มีมานานถึง 15 ปี
3. ให้หน่วยงานและคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบกิจการฮัจย์ของพี่น้องมุสลิม ทบทวนนโยบายในการเรียกเก็บเงินค่าลงทะเบียนท่านละ 50,000 บาท เพราะสร้างความสับสน และไม่ชัดเจนในการบริหารจัดการการเงิน ไม่ว่า กรณีผู้ลงทะเบียนขอยกเลิก จำนวนเงินที่จะได้คืน การกำหนดระยะเวลา ในการคืนเงิน ค่าตอบแทนเงินฝากในบัญชี กรมการศาสนา ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจผิด
4. ให้หน่วยงาน หรือ องค์กรศาสนาอิสลาม จะต้องติดตามและตรวจสอบเงินค่าลงทะเบียนของพี่น้องมุสลิมท่านละ 50,000 บาท และเงินค่าตอบแทนซึ่งตามหลักศาสนาอิสลาม ( ชารีอะห์ ) เป็นของสิทธิส่วนบุคคล เหมือนกับประเทศมาเลเซียและประเทศบรูไน ปฏิบัติกับพี่น้องมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ซึ่งจำนวนเหล่านี้จะมีจำนวนเป็นพันๆล้านบาท ( 1,000,000,000 บาท )
5. ในกรณีที่ทางรัฐบาล ไม่สามารถจัดการดำเนินการนำผู้ลงทะเบียนทั้งหมดในปีพ.ศ.2555 ให้สามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ในปีนี้ ทางกรมการศาสนา ไม่มีความชอบธรรมที่จะนำเงินลงทะเบียนของพี่น้องมุสลิมเก็บเป็นเงินฝากในบัญชีของกรมการศาสนา ทางกรมการศาสนา จะต้องแสดงความรับผิดชอบและความบริสุทธิ์ใจคืนเงินให้พี่น้องมุสลิมที่ลงทะเบียนทั้งหมด
6. เพราะจำนวนเงินลงทะเบียนท่านละ 50,000 บาท ที่เก็บไว้ในบัญชีกรมการศาสนา และรอที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ในปี พ.ศ.2556 พี่น้องมุสลิมเจ้าของเงินสามารถนำเป็นทุนทรัพย์ ทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพของตน
7. ทางสมาคมฯได้ยื่นข้อเสนอแนะในการพัฒนากิจการฮัจย์ของประเทศไทย ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกๆปี ทางหน่วยงานเหล่านั้นต่างหากที่ไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะรับฟัง และไม่ยอมรับในข้อผิดพลาด ส่วนใหญ่จะมาโทษผู้ประกอบการและแซะห์ (ผู้นำกลุ่ม ) และไม่เคยที่จะจัดประชุม สัมมนาจากหลายฝ่ายเพื่อหาแนวทางให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด ไม่เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน จะมีนโยบายในการดำเนินงานกิจการฮัจย์ที่ชัดเจนและใช้โอกาสเทศกาลฮัจย์ ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีตัวแทนของแต่ละประเทศ อย่างเช่น ประเทศจีน กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ฯลฯ
ด้าน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. จะจัดคณะกรรมการบริหารกิจการฮัจย์ ให้เหมือนกับ บอร์ดฮัจย์ เนื่องจากกิจการนี้เป็นกิจการของศาสนาอิสลาม อาจจะจัดโครงสร้างของคณะกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตัวแทนผู้ประกอบการกิจการฮัจย์ ซึ่งได้คัดเลือกจากสมาคมฯ หรือ หน่วยงานอื่นๆที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญในพื้นที่ และรับจะทำงานร่วมมือกับทุกฝ่าย ถ้าสิ่งนั้นสามารถแก้ไขความเดือดร้อนของพี่น้องในพื้นที่ และ รับจะประสานงานกับรัฐบาลตามข้อเสนอดีๆที่สามารถแก้ปัญหาในกิจการฮัจย์ทันที ตลอดถึงจะให้รัฐบาลทบทวนนโยบายที่มีผลกระทบให้กับพี่น้องมุสลิมและญาติๆต่อไป